MEA หน่วยงานเบื้องหลังสำคัญกับบทบาทของไทย ในการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 สู่สายตาโลก
คงจะไม่เกินจริงนัก หากกล่าวว่าพวกเราคน MEA เป็นส่วนสำคัญของภารกิจระดับชาติ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย และเป็นส่วนสำคัญต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีโลก
เพราะ APEC เป็นเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่สำคัญระดับโลก ที่จะส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ความร่วมมือในด้านมิติสังคม และการพัฒนาด้านอื่น ๆ
เพราะทุกตารางนิ้วของการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2022 อยู่ในพื้นที่การให้บริการของ MEA ทั้งสิ้น ตั้งแต่สถานที่จัดการประชุมและพื้นที่รับรองทั้ง 3 แห่ง โรงแรมที่พัก 21 แห่ง สนามบิน 2 แห่ง ไปจนถึงศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล และเพราะระบบไฟฟ้าคือเส้นเลือดหล่อเลี้ยงทุกอณูของงานนี้ ไม่ว่าจะอะไรที่เรานึกถึง ล้วนใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น
พวกเราจึงเป็นเบื้องหลังที่สำคัญ... เบื้องหลังที่เป็นตัวแปรว่า ในฐานะเจ้าภาพ ประเทศไทยทำได้ดีแค่ไหน ไม่ว่าจะรูปธรรมหรือนามธรรม เราเป็นตัวแปรสำคัญ... ที่กำหนดความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพ
แล้วในฐานะคน MEA ควรทำอย่างไร เพื่อให้ระบบไฟฟ้าเป็นตัวแปรที่ส่งเสริมและหนุนนำประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้อย่างเต็มภาคภูมิ ...กระแสฉบับนี้จะพาทุกคนหาคำตอบไปพร้อมกัน
รู้จัก APEC ภารกิจพิเศษของคน MEA
APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) เป็นเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่สำคัญระดับโลก มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าในปี 2022 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ตลอดทั้งปี รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน
และนี่คือจุดเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการได้เป็นเจ้าภาพ APEC ซึ่งถือเป็นการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ย่อมส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยบนเวทีโลกให้ชัดเจนขึ้น ยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนแบบในตอนนี้
มากไปกว่านั้น APEC ครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมแบบพบปะเจอตัวครั้งแรกของผู้นำประเทศและผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจในรอบหลายปีหลังโควิด
และนี่คือเวทีโชว์ศักยภาพของไทย ซึ่งไม่มีทางสำเร็จได้ หากขาดเบื้องหลังที่สำคัญอย่างระบบไฟฟ้าที่มั่นคง
หนึ่งภารกิจใหญ่ ที่หนึ่งคนทำได้ แต่สำเร็จไม่ได้ด้วยหนึ่งคน
ทุกพื้นที่ในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำ APEC อยู่ในความดูแล MEA 100% ไม่ใช่เพียงสถานที่จัดประชุมอย่างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่รวมไปถึงพื้นที่รับรอง หอประชุมกองทัพเรือ สนามบิน โรงแรมที่พัก และศูนย์บัญชาการต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หากมองในขอบเขตหน้าที่หลักของ MEA แน่นอนว่า “ระบบไฟฟ้าที่มั่นคง” ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือเป็นภารกิจพิเศษที่เรามีร่วมกัน เราจึงจัดตั้งศูนย์อำนวยการ การประชุม APEC 2022 ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่คลองเตย เพื่อเตรียมการและสแตนด์บาย 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 14-19 พฤศจิกายน จุดประสงค์หลักคือประสานงานระหว่างศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยระบบ SCADA/EMS/DMS ทั้ง 2 แห่ง สถานีไฟฟ้า 22 แห่ง 18 ฟข. กับสถานที่สำคัญ 26 แห่ง เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้ง ฟขต. ฟขล. ฟขธ. ฝบร. ฝบฟ. และหน่วยงานอื่น ๆ ของ MEA
การเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้างาน APEC 2022 เรื่องของ 'คน' และ 'อุปกรณ์' ต้องมาคู่กัน เรานำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ ทั้ง Thermoscan ตรวจจับความร้อนอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้ง Drone ตรวจระบบสายส่งไฟฟ้า ทั้ง Acoustic Camera ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจจับเสียงคลื่นความถี่สูง เพื่อใช้ตรวจสอบ Partial Discharge จุดบกพร่องของฉนวนไฟฟ้า เราเตรียมรถงานรูปแบบต่าง ๆ กว่า 250 คัน เจ้าหน้าที่กว่า 700 คน ประจำสถานีไฟฟ้า 22 แห่ง และจุดสำคัญต่าง ๆ
กระทั่งจุดเล็ก ๆ เราก็ไม่มองข้าม เช่น การถ่ายโหลดสายป้อนที่จ่ายไฟเข้าจุดสำคัญ พูดง่าย ๆ คือ เราเคลียร์สายป้อนให้จ่ายไฟอย่างเต็มที่ไปยังสถานที่จัดงาน ไม่ต้องแย่งไฟกับสถานที่อื่น เพื่อลดโอกาสการเกิดไฟฟ้าขัดข้องนั่นเอง
อีกส่วนสำคัญของการเตรียมความพร้อม คือ เราต้องคาดการณ์เหตุไม่พึงประสงค์ และ "ต้องพร้อม" หากเกิดเหตุนั้น เราจึงมีแผนรับมือเหตุวิกฤต รวมทั้งซักซ้อมตามแผนและขั้นตอนนั้น เตรียมอุปกรณ์ระบบสำรอง เพื่อความพร้อมสูงสุดสำหรับทุกสถานการณ์
และเมื่อมองกว้างและไกลกว่านั้น การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้เกิดไม่ได้ด้วย MEA องค์กรเดียว เพราะนี่คือวาระของประเทศ เราจึงร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่าหลัก ๆ คือ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูแลความปลอดภัยในทุกมิติ ร่วมมือกับ กฟผ. เพิ่มความเสถียรจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าต้นทางให้อยู่ในระดับสูงสุด ร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. จัดระเบียบสายสื่อสาร ร่วมมือกับ กทม. ปรับผิวการจราจรให้สะดวกในการสัญจร ฯลฯ ทั้งหมดก็เพื่อผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ
เบื้องหลัง... ของประเทศไทย
หน้าที่ใหญ่... ของ MEA
เมื่อบทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลกคือหนึ่งในเป้าหมายหลักของการเป็นเจ้าภาพ APEC ที่อาจเดิมพันด้วยเบื้องหลังอย่างระบบไฟฟ้า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความพร้อมต้องเกินร้อยในทุกพื้นที่ที่เราดูแล
พวกเราคน MEA เจ็ดพันกว่าคน ถูกแบ่งออกเป็นทัพหน้าและทัพเสริม
ทีมงานประจำศูนย์อำนวยการฯ และพนักงานกว่าเจ็ดร้อยชีวิต ที่ประจำตามจุดต่าง ๆ หน้างาน อาจมีภาระหน้าที่มากกว่าเนื่องจากเนื้องานเกี่ยวข้องโดยตรง
ส่วนทีมงานสนับสนุนอีกกว่าหกพันคน มีภาระหน้าที่ไม่ยิ่งหย่อน เพราะเชื่อว่าแม้จะประกาศเป็นวันปิดทำการแต่ทุกคนมีสิ่งที่ต้องดูแลรับผิดชอบ
แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ในส่วนใด ความร่วมมือร่วมใจคือหัวใจของภารกิจใหญ่ครั้งนี้
เราอาจต้องทำงานหนักขึ้น เหนื่อยขึ้น เพราะนอกจากงานประจำเรายังมีภารกิจพิเศษนี้ที่เราต้องทำอย่างเต็มที่
หากมองในมุมประชาชนคนหนึ่ง การเป็นเจ้าภาพที่ดี นั่นคือเรื่องหนึ่ง แต่ในอีกมุม เราคือพนักงาน MEA ที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งแปลว่า พวกเราคือทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง... และมีผลสำคัญต่อความสำเร็จเบื้องหน้าของงานนี้
ดังที่ผู้ว่าการได้กล่าวไว้ "เรื่องความมั่นคงระบบไฟฟ้า MEA ดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่การเป็นเจ้าภาพจัดงานนานาชาติอย่าง APEC 2022 ความมั่นคงระบบไฟฟ้าต้องสูงสุด เพราะว่างานนี้เป็นการประชุมเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งไฟฟ้าเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดความน่าลงทุน กระเพื่อมวงกว้างสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
...และนี่คือเวทีใหญ่ที่เราจะมีโอกาสสะท้อนความมั่นคงนี้ออกไป"
------------------
แด่ผู้ดูแลระบบไฟฟ้า... แด่พวกเรา... คน MEA ทุกคน
👉 https://youtu.be/2Wy3uB7G1bk
------------------
อ้างอิงข้อมูลจาก:
What is APEC? - APEC (apec2022.go.th)
APEC 2022 Thailand สำคัญอย่างไร? ไทยจะได้อะไรในฐานะเจ้าภาพการประชุม? – THE STANDARD