• หน้าแรก
  • สื่อออนไลน์กระแส
  • วารสารประกาย
  • คลิป
    • รายการถามตรงตอบตรงกับผู้ว่าการกีรพัฒน์
    • รายการ MEA Today Talk
    • รายการเปิดประตูดูห้องเวร
    • รายการชม ชิม ชอป
    • รายการ MEA Knowledge Tube
    • คลิปอื่น ๆ
  • สำหรับผู้ดูแลระบบ

MEA หน่วยงานเบื้องหลังสำคัญกับบทบาทของไทย ในการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 สู่สายตาโลก

  • Print
Details
กระแสออนไลน์
11 November 2022
Hits: 1274

 

 

MEA หน่วยงานเบื้องหลังสำคัญกับบทบาทของไทย ในการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 สู่สายตาโลก

 

คงจะไม่เกินจริงนัก หากกล่าวว่าพวกเราคน MEA เป็นส่วนสำคัญของภารกิจระดับชาติ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย และเป็นส่วนสำคัญต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีโลก

 

เพราะ APEC เป็นเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่สำคัญระดับโลก ที่จะส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ความร่วมมือในด้านมิติสังคม และการพัฒนาด้านอื่น ๆ

 

เพราะทุกตารางนิ้วของการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2022 อยู่ในพื้นที่การให้บริการของ MEA ทั้งสิ้น ตั้งแต่สถานที่จัดการประชุมและพื้นที่รับรองทั้ง 3 แห่ง โรงแรมที่พัก 21 แห่ง สนามบิน 2 แห่ง ไปจนถึงศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล และเพราะระบบไฟฟ้าคือเส้นเลือดหล่อเลี้ยงทุกอณูของงานนี้ ไม่ว่าจะอะไรที่เรานึกถึง ล้วนใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น

 

พวกเราจึงเป็นเบื้องหลังที่สำคัญ... เบื้องหลังที่เป็นตัวแปรว่า ในฐานะเจ้าภาพ ประเทศไทยทำได้ดีแค่ไหน  ไม่ว่าจะรูปธรรมหรือนามธรรม เราเป็นตัวแปรสำคัญ... ที่กำหนดความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพ

 

แล้วในฐานะคน MEA ควรทำอย่างไร เพื่อให้ระบบไฟฟ้าเป็นตัวแปรที่ส่งเสริมและหนุนนำประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้อย่างเต็มภาคภูมิ ...กระแสฉบับนี้จะพาทุกคนหาคำตอบไปพร้อมกัน


 

รู้จัก APEC ภารกิจพิเศษของคน MEA

 

APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) เป็นเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่สำคัญระดับโลก มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าในปี 2022 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ตลอดทั้งปี รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน

 

และนี่คือจุดเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย

 

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการได้เป็นเจ้าภาพ APEC ซึ่งถือเป็นการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ย่อมส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยบนเวทีโลกให้ชัดเจนขึ้น ยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนแบบในตอนนี้

 

มากไปกว่านั้น APEC ครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมแบบพบปะเจอตัวครั้งแรกของผู้นำประเทศและผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจในรอบหลายปีหลังโควิด

 

และนี่คือเวทีโชว์ศักยภาพของไทย ซึ่งไม่มีทางสำเร็จได้ หากขาดเบื้องหลังที่สำคัญอย่างระบบไฟฟ้าที่มั่นคง


 

หนึ่งภารกิจใหญ่ ที่หนึ่งคนทำได้ แต่สำเร็จไม่ได้ด้วยหนึ่งคน

 

ทุกพื้นที่ในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำ APEC อยู่ในความดูแล MEA 100% ไม่ใช่เพียงสถานที่จัดประชุมอย่างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่รวมไปถึงพื้นที่รับรอง หอประชุมกองทัพเรือ สนามบิน โรงแรมที่พัก และศูนย์บัญชาการต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

หากมองในขอบเขตหน้าที่หลักของ MEA แน่นอนว่า “ระบบไฟฟ้าที่มั่นคง” ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือเป็นภารกิจพิเศษที่เรามีร่วมกัน เราจึงจัดตั้งศูนย์อำนวยการ การประชุม APEC 2022 ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่คลองเตย เพื่อเตรียมการและสแตนด์บาย 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 14-19 พฤศจิกายน จุดประสงค์หลักคือประสานงานระหว่างศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยระบบ SCADA/EMS/DMS ทั้ง 2 แห่ง สถานีไฟฟ้า 22 แห่ง 18 ฟข. กับสถานที่สำคัญ 26 แห่ง เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้ง ฟขต. ฟขล. ฟขธ. ฝบร. ฝบฟ. และหน่วยงานอื่น ๆ ของ MEA

 

การเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้างาน APEC 2022 เรื่องของ 'คน' และ 'อุปกรณ์' ต้องมาคู่กัน เรานำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ ทั้ง Thermoscan ตรวจจับความร้อนอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้ง Drone ตรวจระบบสายส่งไฟฟ้า ทั้ง Acoustic Camera ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจจับเสียงคลื่นความถี่สูง เพื่อใช้ตรวจสอบ Partial Discharge จุดบกพร่องของฉนวนไฟฟ้า เราเตรียมรถงานรูปแบบต่าง ๆ กว่า 250 คัน เจ้าหน้าที่กว่า 700 คน ประจำสถานีไฟฟ้า 22 แห่ง และจุดสำคัญต่าง ๆ

 

กระทั่งจุดเล็ก ๆ เราก็ไม่มองข้าม เช่น การถ่ายโหลดสายป้อนที่จ่ายไฟเข้าจุดสำคัญ พูดง่าย ๆ คือ เราเคลียร์สายป้อนให้จ่ายไฟอย่างเต็มที่ไปยังสถานที่จัดงาน ไม่ต้องแย่งไฟกับสถานที่อื่น เพื่อลดโอกาสการเกิดไฟฟ้าขัดข้องนั่นเอง

 

อีกส่วนสำคัญของการเตรียมความพร้อม คือ เราต้องคาดการณ์เหตุไม่พึงประสงค์ และ "ต้องพร้อม" หากเกิดเหตุนั้น เราจึงมีแผนรับมือเหตุวิกฤต รวมทั้งซักซ้อมตามแผนและขั้นตอนนั้น เตรียมอุปกรณ์ระบบสำรอง เพื่อความพร้อมสูงสุดสำหรับทุกสถานการณ์

 

และเมื่อมองกว้างและไกลกว่านั้น การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้เกิดไม่ได้ด้วย MEA องค์กรเดียว เพราะนี่คือวาระของประเทศ เราจึงร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่าหลัก ๆ คือ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูแลความปลอดภัยในทุกมิติ ร่วมมือกับ กฟผ. เพิ่มความเสถียรจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าต้นทางให้อยู่ในระดับสูงสุด ร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. จัดระเบียบสายสื่อสาร ร่วมมือกับ กทม. ปรับผิวการจราจรให้สะดวกในการสัญจร ฯลฯ ทั้งหมดก็เพื่อผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ

 

 

เบื้องหลัง... ของประเทศไทย
หน้าที่ใหญ่... ของ
MEA

 

เมื่อบทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลกคือหนึ่งในเป้าหมายหลักของการเป็นเจ้าภาพ APEC ที่อาจเดิมพันด้วยเบื้องหลังอย่างระบบไฟฟ้า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความพร้อมต้องเกินร้อยในทุกพื้นที่ที่เราดูแล

พวกเราคน MEA เจ็ดพันกว่าคน ถูกแบ่งออกเป็นทัพหน้าและทัพเสริม

ทีมงานประจำศูนย์อำนวยการฯ และพนักงานกว่าเจ็ดร้อยชีวิต ที่ประจำตามจุดต่าง ๆ หน้างาน อาจมีภาระหน้าที่มากกว่าเนื่องจากเนื้องานเกี่ยวข้องโดยตรง

ส่วนทีมงานสนับสนุนอีกกว่าหกพันคน มีภาระหน้าที่ไม่ยิ่งหย่อน เพราะเชื่อว่าแม้จะประกาศเป็นวันปิดทำการแต่ทุกคนมีสิ่งที่ต้องดูแลรับผิดชอบ

แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ในส่วนใด ความร่วมมือร่วมใจคือหัวใจของภารกิจใหญ่ครั้งนี้

 

เราอาจต้องทำงานหนักขึ้น เหนื่อยขึ้น เพราะนอกจากงานประจำเรายังมีภารกิจพิเศษนี้ที่เราต้องทำอย่างเต็มที่

 

หากมองในมุมประชาชนคนหนึ่ง การเป็นเจ้าภาพที่ดี นั่นคือเรื่องหนึ่ง  แต่ในอีกมุม เราคือพนักงาน MEA ที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งแปลว่า พวกเราคือทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง... และมีผลสำคัญต่อความสำเร็จเบื้องหน้าของงานนี้

 

ดังที่ผู้ว่าการได้กล่าวไว้ "เรื่องความมั่นคงระบบไฟฟ้า MEA ดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่การเป็นเจ้าภาพจัดงานนานาชาติอย่าง APEC 2022 ความมั่นคงระบบไฟฟ้าต้องสูงสุด เพราะว่างานนี้เป็นการประชุมเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งไฟฟ้าเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดความน่าลงทุน กระเพื่อมวงกว้างสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

...และนี่คือเวทีใหญ่ที่เราจะมีโอกาสสะท้อนความมั่นคงนี้ออกไป"

 



------------------

แด่ผู้ดูแลระบบไฟฟ้า... แด่พวกเรา... คน MEA ทุกคน

👉 https://youtu.be/2Wy3uB7G1bk

 

------------------

อ้างอิงข้อมูลจาก:

What is APEC? - APEC (apec2022.go.th)
APEC 2022 Thailand สำคัญอย่างไร? ไทยจะได้อะไรในฐานะเจ้าภาพการประชุม? – THE STANDARD

 

KEN by MEA คืออะไร? เปิดวาร์ปประสบการณ์ใหม่ของธุรกิจ MEA กับคำถามที่คน MEA อยากรู้

  • Print
Details
กระแสออนไลน์
25 October 2022
Hits: 4289

 

KEN by MEA คืออะไร? เปิดวาร์ปประสบการณ์ใหม่ของธุรกิจ MEA กับคำถามที่คน MEA อยากรู้

 

เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยกับอีกหนึ่งโฉมการให้บริการของ MEA ที่เรียกได้ว่าเป็นการรีแบรนด์ครั้งสำคัญของธุรกิจเกี่ยวเนื่องของเรา ... KEN by MEA

 

สิ่งที่คน MEA น่าจะรู้อยู่แล้วคือ นอกเหนือจากการจำหน่ายไฟฟ้า MEA มีบริการหลังเครื่องวัดด้วย

แต่สิ่งที่อาจยังไม่รู้คือเหตุผลว่า ทำไม MEA ต้องปรับโฉมการให้บริการหลังเครื่องวัดเหล่านั้น

 

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ลดลงทุกปี นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา และความเป็นจริงอีกข้อหนึ่ง คือ ปัจจุบันเราพึ่งพิงรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าถึงกว่า 98%


คงจะไม่ผิดนัก หากพูดว่า การจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า “รูปแบบเดิม” เริ่มอิ่มตัว

ถึงตรงนี้ คำถามและความสงสัยอาจเริ่มก่อตัว ในเมื่อ EV ก็มาแรง Solar ก็กำลังบูม แถมช่วงวิกฤตโควิด 2-3 ปีที่ผ่านมา คนน่าจะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

 

คำตอบคือ เหล่านั้นมันคือการใช้พลังงานไฟฟ้า “รูปแบบใหม่” หรือการให้บริการหลังเครื่องวัด ที่เกิดแทรกขึ้นมาและเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

 

เมื่อตลาดใช้พลังงานแบบเดิมเริ่มถดถอย ในขณะที่อีกตลาดกำลังไปได้สวย จนใครก็อยากกระโดดเข้าไป แล้วเรา... ผู้จับจอง เรื่อง ‘ไฟฟ้า’ ของเมืองมากว่า 60 ปี จะอยู่เฉยได้อย่างไร

 

กระแสฉบับนี้ จะพาทุกคนเปิดวาร์ป ธุรกิจเกี่ยวเนื่องของ MEA ที่ไม่ใช่แค่ ‘ควรมีในตลาด’ แต่ ควรต้องมีให้ตลาดจับตามอง

 

 

Key Energy Now : KEN
“กุญแจ” ไขปัญหาด้านไฟฟ้าและพลังงานให้กับลูกค้า เพื่อพาวิถีชีวิตชาวมหานคร ให้เริ่มต้นอนาคต... ตั้งแต่วันนี้

 

ปัจจุบัน MEA พึ่งพิงรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นหลัก ในเมื่อรายได้ในส่วนนี้เริ่มลดลง การหารายได้เพิ่มจากตลาดพลังงานรูปแบบใหม่ที่กำลังเปิดกว้าง จึงจำเป็นอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ เมื่อตลาดเปลี่ยน การใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ๆ กำลังเติบโต ความต้องการผู้ใช้ไฟฟ้าเบนเข็ม เราจะเป็น “พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร” ไม่ได้เต็มภาคภูมิ หากเรารองรับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้

 

KEN by MEA หรือ Key Energy Now by MEA มัดรวม 4 ธุรกิจเกี่ยวเนื่องของ MEA

- บริการออกแบบติดตั้งระบบไฟฟ้า EPC (Engineering Procurement and Construction) ทั้งแรงสูง แรงกลาง แรงต่ำ

- บริการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าเชิงป้องกัน PM (Preventive Maintenance)

- บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ (Solar Cell)

- ธุรกิจบริการเกี่ยวกับ EV (EV Charger)

 

หลายคนอาจถาม นั่นคือสิ่งที่ MEA ทำอยู่แล้ว ซึ่งถูกต้อง แต่ไม่ทั้งหมด

KEN by MEA จะเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ลูกค้าจะได้รับ เพราะเรายกระดับการให้บริการที่ตอบสนองมากขึ้น พูดง่าย ๆ คือ 4 ธุรกิจ แบบอัปเกรดนั่นเอง ซึ่งหัวเรือใหญ่ที่ดูแลคือ ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า (ฝธค.) โดย ฝธค. ได้ตั้งทีมงานขึ้นมาโดยเฉพาะ เสริมทัพด้วยทีมงานจากหน่วยงานที่เป็น touch point เช่น ฝตพ. ฝบก. Call Center ฝพท. ฯลฯ

 

เราอยากสร้างการรับรู้ใหม่ของธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างตัวตนของธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้ชัดเจน โดยแยกธุรกิจออกจากภารกิจหลักของ MEA ด้วยทีมทำงานที่เป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญ เข้าใจผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นมิตร และทันสมัย เพื่อรองรับบริการสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ครอบคลุม

 

ที่เรากำลังจะลุยเต็มที่ขนาดนี้ ก็เพราะว่า ภายหลังจากมติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพิ่มขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2565 ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ส่งผลให้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 22% หรือแตะระดับ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2568 คนไทยสนใจติดโซลาร์รูฟท็อป เพิ่มขึ้น 4 เท่า สะท้อนจากคำค้นหาเกี่ยวกับ “ติดตั้งโซลาร์เซลล์” ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

 

มาดูเรื่อง EV Charger กันบ้าง ขนาดตลาดสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตจาก 2,115,000 หน่วยในปี 2563 เป็น 30,758,000 หน่วยภายในปี 2570 คิดเป็น 46.6%  ส่วนในประเทศไทย คาดว่าใน 4 ปี มูลค่าการตลาดจะเติบโตขึ้นแตะ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่ม 170 เท่าตัวจากปัจจุบัน

 

สำหรับ EPC และ PM มันคือสิ่งที่เราถนัดมาอย่างยาวนาน มีฐานลูกค้าอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง จึงไม่มีเหตุผลฉุดรั้งว่าทำไมเราจะไม่เดินหน้าขยายตลาดต่อ เพราะความต้องการแม้ไม่พุ่งทะยานเหมือน Solar และ EV แต่ก็ไม่เคยถดถอย อย่างตลาด EPC ก็เติบโตอย่างเงียบ ๆ ชนิดที่บริษัทใหญ่ร่วมทุนกันเพื่อทำธุรกิจนี้ก็มีให้เห็นไม่น้อย

 

 

จุดแข็ง - จุดขาย - จุด KEN ให้ติดตลาด

 

เมื่อยังมีพื้นที่อีกมากในตลาดให้ ‘ผู้ที่พร้อม’ กระโดดเข้าไป เมื่อมี ‘ลูกค้า’ มากมายในตลาด รอผู้ที่ตอบสนองความต้องการเขาได้มากที่สุด มันคือคอนเซปต์ “ใครดี ใครได้” แต่คนที่อยากได้... ก็ต้องดีพอ

 

หากชำแหละผู้เล่นในตลาด 4 ธุรกิจนี้ว่ามีดีอย่างไรบ้าง พูดง่าย ๆ ว่าลูกค้าควรเลือกเจ้าไหน จะเห็นว่าพื้นฐานไม่ต่างกันมาก ดูไม่ยาก เพราะสเป็กของดีก็แพงขึ้นมาหน่อย แต่ที่ตัดกันส่วนมากจะเป็นเรื่องความสะดวก ครบวงจร และความรวดเร็วในการติดต่อประสานงานและติดตั้ง

 

Solar Cell - สเป็กของอุปกรณ์ที่ติดตั้ง เช่น แผงโซลาร์เซลล์ อินเวอร์เตอร์ เกรดสายไฟ ระบบเป็น 1 เฟสหรือ 3 เฟส การรับประกัน ราคารวมการขออนุญาตหรือไม่ ระยะเวลาติดตั้ง ฯลฯ บางเจ้าก็งัดกลเม็ดที่แตกต่างออกมาเพื่อดึงดูด เช่น SCG Solar Roof Solutions มีนวัตกรรม Solar FIX ติดตั้งแผงได้โดยไม่ต้องเจาะหลังคา ซึ่งเป็นสิทธิบัตรเฉพาะ SCG หรือหลายเจ้าที่มีแอปฯ ที่สามารถเช็กประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ได้แบบ Realtime แต่ที่หลายเจ้าอาจไม่ได้พูดถึง คือการบำรุงรักษาทั้งตัวแผงและระบบ รวมทั้งการเช็กสุขภาพของระบบภายในบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และความชำนาญในการเชื่อมต่อระบบ

 

EV Charger - โปรโมชันระยะหลังนี้ ซื้อรถ แถม Charger มีให้เห็นดาษดื่น บางเจ้าตัดกันที่ความยาวของสายชาร์จด้วยซ้ำ แต่ที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือเรื่องความชำนาญในการติดตั้ง charger การเดินสาย หรือแม้แต่การคำนวณขนาดมิเตอร์ของบ้าน

 

ไม่ว่าจะ Solar Cell หรือ EV Charger นอกจากจุดขายเรื่องความสะดวกรวดเร็วในการติดตั้งจนถึงขั้นพร้อมใช้ จะมีขั้นตอนแฝงที่หลายเจ้าอาจไม่ได้พูดถึง นั่นคือการขออนุญาตและเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า อย่าง Solar Cell หากจะขายไฟส่วนเหลือใช้กลับเข้าระบบ ต้องมีมิเตอร์ขายไฟ และต้องเชื่อมต่อระบบอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัย EV Charger ก็เช่นเดียวกัน อย่างเครื่องประเภท Wall Box จะกินกระแสเท่ากับการใช้ไฟของบ้าน 1 หลัง ดังนั้นจะมีเรื่องของการเดินสายเมนใหม่ให้เหมาะสม แถมยังต้องมีอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วที่ได้มาตรฐาน

 

ที่ผ่านมาก็มีอุบัติเหตุหลายเคสให้เห็นกัน เพราะการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งการชาร์จ EV ไว้แล้วเกิดระเบิด เพราะไม่ได้คำนวณการใช้ไฟให้เหมาะสม จึงไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์รองรับให้ปลอดภัย หรือ ไฟย้อนกลับในระบบ Solar จนทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

 

ในส่วนของ EPC การออกแบบระบบไฟฟ้าควรเป็นแบบครบวงจร one stop service และความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะบางสถานที่ เช่น โรงพยาบาล ไฟฟ้าดับไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่ได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นก็ต้องคิดมาตั้งแต่การออกแบบระบบไฟฟ้านั่นเอง

 

ส่วนการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าเชิงป้องกัน เป็นความจำเป็นที่คนมักคาดไม่ถึง เหมือนรถยนต์ที่เราซื้อมาใช้ หากไม่ได้เข้าศูนย์ตามระยะหรือดูแลเชิงป้องกันเลย รอวันเสียขับไม่ได้จึงถามหาช่าง เมื่อนั้น ก็เกิดค่าใช้จ่ายและความเสียหายไปมากแล้ว

 

ความเป็นมืออาชีพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน นั่นคือจุดแข็งของเรา

เสริมด้วยข้อดีต่าง ๆ ที่ผู้เล่นในตลาดต่างมีคือ ความสะดวกและรวดเร็ว

 

จึงเป็นที่มาของจุดขาย “สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เป็นมืออาชีพ เข้าถึงง่าย เรียกใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง”

 

จุดขายที่เจ้าอื่นมี ... เรามี

จุดขายที่เจ้าอื่นอาจไม่มี ... เรามี

และนั่นคือ ‘จุดขายที่แข็งแกร่ง’ ของ KEN  “ถามมืออาชีพ ถาม KEN”

 

 

ทีมมืออาชีพอย่าง KEN ต้องมี “คุณ”

 

4 บริการนี้ จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ KEN

 

การจะเป็น ‘พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร’ เราต้องตอบเมือง โจทย์มาอย่างไร เปลี่ยนขนาดไหน วิถีชีวิต การใช้พลังงาน เปลี่ยนทิศไปอย่างไร  หน้าที่เรา... ต้องเสนอให้ครบ ตอบสนองให้ได้ นั่นคือศักดิ์และศรีของพวกเรา ส่วนผลพลอยได้คือรายได้ของ MEA

 

เมื่อตลาดโต เรามีหน้าที่โตให้ทันตลาด เราอาจต้องเหนื่อยกันมากขึ้นเพื่อตามลมที่เปลี่ยนทิศ เราอาจต้องศึกษาเพิ่มพูนความรู้ ฝึกฝนความชำนาญให้มากขึ้น แต่นั่นคือสิ่งที่เราสัญญากับผู้คนในเมืองมหานครไว้

 

ทีม KEN คือ ความกล้า ... ความกล้าของพวกเราที่จะฝ่ากรอบการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ เพราะมันคือทีมปฏิบัติการพิเศษที่จะส่งมอบบริการและคุณภาพที่ ‘ใช่’ ที่สุด เพื่อแหวกกระแสธารของการแข่งขันที่เชี่ยวกราก และพาตัวเองถึงฝั่งโดยไม่จมหายไป พร้อมกับผู้ใช้ไฟฟ้าอีก 4 ล้านกว่าชีวิต

 

ภารกิจของทีมปฏิบัติการ KEN ไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยทีมใดทีมหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง นั่นก็เพราะการจะส่งมอบสิ่งที่ ‘ใช่’ ที่สุดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องการ ‘การทำหน้าที่’ ของทุกคน ไม่ว่าจะในขอบเขตที่เคยทำมาแล้ว หรือไม่เคยก็ตาม แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เราทุกคนต้องพร้อมที่จะทำ

 

เพราะความเป็นจริงคือ ลูกค้า... เลือกได้ 

และเมื่อลูกค้าเลือกเรา... เราถึงจะอยู่ได้

 

หาก “คุณ” ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เราเริ่มได้จากการที่เรารู้... รู้ว่าเรามีธุรกิจที่พร้อม รู้ว่าเรามี KEN

 

เมื่อรู้... ในฐานะพนักงาน เราบอกต่อด้วยความมั่นใจว่าเราจะส่งมอบบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย ไปยังประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า

 

ในเมื่อวันนี้เราพร้อมแล้ว และเห็นภาพอนาคตของธุรกิจเกี่ยวเนื่องตรงกันแล้ว ความท้าทายต่อไปคือเราจะทำอย่างไร ให้ลูกค้าเห็นภาพเดียวกับพวกเรา... ซึ่ง “คุณ” คือกุญแจที่สำคัญ

 

 

 

-------------------------------------------

 

ชวนคุณเข้าใจประสบการณ์ใหม่ของธุรกิจ MEA ให้มากขึ้น กับ รองผู้ว่าการธุรกิจ และ โฆษก MEA
คลิก https://youtu.be/QYlh60xM8v8

 

งานแถลงข่าวเปิดตัว KEN by MEA
คลิก https://youtu.be/jAcEKVA44JM  หรือ https://bit.ly/3ShlQ0f

 

---------------------------------------

ขอบคุณข้อมูลจาก นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าธุรกิจและโฆษก MEA รวมทั้ง ทีมงาน KEN by MEA ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า (ฝธค.)

และแหล่งอ้างอิง

- รายงานประจำปี 2564 (mea.or.th)

- [Final Report] การสำรวจและวิเคราะห์ตลาดของ EV Charger ในประเทศไทย - NECTEC : National Electronics and Computer Technology Center

- ttb analytics ชี้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป เติบโตก้าวกระโดด | ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) (ttbbank.com)
- Solar Rooftop • ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ (kaohoon.com)

- ส่องตลาด EV ในประเทศไทย: ไปไกลได้แค่ไหน...อะไรฉุด อะไรดัน? - Marketeer Online

- ea5d2f1c4608232e07d3aa3d998e5135.pdf (ttcl.com)

- ติด Solar Rooftop เพื่อใช้ และขายไฟคืน - SCG Building Materials

- ติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน ใช้งบเท่าไหร่ ใช้ยี่ห้อไหนดี | thinkofliving.com

- ติดตั้งโซล่าเซลล์ 5kW 10kW ปัจจุบันราคาเท่าไหร่ 2021 ใช้อะไรได้บ้าง (energyfordummies.com)

 

 

 

 

ปลดล็อกศักยภาพ MEA … อะไรจะเปลี่ยนไปบ้าง เมื่อแก้ พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวง

  • Print
Details
กระแสออนไลน์
09 May 2022
Hits: 3856

 

ปลดล็อกศักยภาพ MEA … อะไรจะเปลี่ยนไปบ้าง เมื่อแก้ พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวง

 

เป็นข่าวใหญ่ที่เชื่อว่าพวกเราทุกคนสนใจ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 ที่บังคับใช้มานานกว่า 60 ปี หลายอย่างไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว แต่หัวใจสำคัญคือ การเปลี่ยนข้อกฎหมายหลายข้อ ที่ไม่อำนวยให้การดำเนินงานของ MEA ปรับตัวได้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงในอนาคต

 

ว่าแต่สาระของการแก้ พ.ร.บ. ครั้งนี้คืออะไร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับองค์กรของพวกเราบ้าง และพวกเราในฐานะพนักงาน MEA จะต้องปรับตัวอะไรบ้าง วันนี้ “กระแส” จะพามาเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน

 

 

พ.ร.บ. ใหม่ มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง?

 

เป้าหมายสำคัญของการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวงครั้งนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้ไฟเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ มั่นคง เชื่อถือได้ ตลอดจนเป็นการขยายการให้บริการและสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้กับ MEA เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานที่ทวีความรุนแรงและคาดเดาได้ยาก

 

โดยมีสาระหลัก 7 ข้อ ดังนี้

 

      1. ให้อำนาจผลิตพลังงานไฟฟ้าได้

ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงว่า MEA เราจะไปตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าใหญ่ ๆ แต่เป็นการผลิต ณ จุดใช้งาน เช่น Solar Rooftop โรงไฟฟ้าขยะ Cogeneration (การผลิตไฟฟ้าแบบใช้พลังงานความร้อนร่วม) เป็นต้น เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปของอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นทั้งผู้ซื้อและขายพลังงานพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้ MEA มีความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการใช้พลังงานสะอาดของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ดีขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงนี้ จะส่งผลให้การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่น้อยลง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก็ลดลงตาม ซึ่งอาจทำให้ค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายลดลงตามไปด้วย และแน่นอนว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้จะเป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ระบบไฟฟ้ายังจะมั่นคงมากขึ้นอีกด้วย เพราะแหล่งผลิตอยู่ใกล้ผู้ใช้มากขึ้น และการสูญเสียพลังงานจากการเดินทางผ่านสายส่งระยะทางยาว ๆ ก็จะลดลงอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงการลงทุนที่คุ้มค่ามากขึ้น

 

      2. สามารถนำสินทรัพย์ที่มีไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้

 

สามารถนำเทคโนโลยี อุปกรณ์ ทรัพย์สิน หรือบุคลากรที่มีอยู่นำไปเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณ เช่น การทำแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) โครงข่ายใยแก้วนำแสง โครงการธุรกิจจัดการพลังงาน (ESCO)  สาย Fiber optic รวมไปถึงอาคารสถานที่ต่าง ๆ ของ MEA ให้สามารถนำมาใช้งานให้เต็มศักยภาพ

 

     3. ดำเนินการในต่างประเทศได้

 

เป็นการเปิดศักราชการให้ MEA บุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง เดิมเราก็มีการทำงานกับต่างประเทศอยู่บ้างแล้ว แต่ด้วยกฎหมายที่ระบุไว้ไม่ชัดเจน เรื่องพื้นที่ทำงานว่าต้องจำกัดอยู่ในเขตจังหวัดที่ให้บริการไหม จึงเป็นการร่วมงานกับต่างประเทศแค่ในลักษณะการจัดอบรม เป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างประเทศเท่านั้น

 

ถ้าแก้ พ.ร.บ. นี้ได้ จะทำให้มีความชัดเจน ทำให้ขอบเขตการดำเนินงานของ MEA สามารถขยายตลาด ให้บริการระบบผลิต ระบบจำหน่ายไปต่างประเทศได้

 

     4. พื้นที่ให้บริการที่ชัดเจนขึ้น

 

ด้วยตัวกฎหมายเดิมที่เขียนมากว่า 60 ปีแล้ว การเขียนชื่อพื้นที่ยังเป็นชื่ออย่าง “เขตพระนคร” การปรับนี้เป็นการทำให้ทันสมัย และชัดเจนว่าจังหวัดที่เราให้บริการมีจังหวัดอะไรบ้าง

 

แต่ไฮไลต์น่าจะอยู่ที่การเขียนครอบคลุมถึงเขตพื้นที่พิเศษ อย่าง EEC (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ร่าง พ.ร.บ. ใหม่ก็ยังเปิดช่องไว้ให้ MEA สามารถเข้าไปดำเนินการได้ด้วย เป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่จะสร้างการเติบโตให้กับ MEA

 

     5. ทลายความล่าช้า ให้ MEA รับผิดชอบงานตัวเอง เพิ่มความคล่องตัว

 

จากเดิมที่ พ.ร.บ. ระบุว่า หากเกิดความเสียหายจากการดำเนินงานของ MEA ต้องเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งทำให้เจ้าของที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียเวลา กว่าจะตกลงค่าเสียหาย หรือจัดการซ่อมแซมให้เรียบร้อย การให้ MEA สามารถจัดการรับผิดชอบความเสียหายได้เองเลย ก็จะทำให้เราทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น

 

     6. วงเงินการกู้ยืมที่สูงขึ้น เพิ่มโอกาสและอิสรภาพ

 

ด้วยตัวกฎหมายเขียนมากว่า 60 ปีแล้ว สมัยนั้นได้มีการกำหนดไว้ว่า หาก MEA จะลงทุนอะไรที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องกู้เงินเกิน 40 ล้าน จะต้องเข้า ครม. ซึ่งที่มาก็ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการให้โครงการใหญ่ ๆ ต้องได้รับอนุมัติก่อน แต่วันนี้ตัวเลข 40 ล้าน แทบจะเป็นมูลค่าการลงทุนพื้นฐาน กลายเป็นว่าไม่ว่าจะโครงการไหนก็ต้องเข้า ครม. เกือบทั้งหมด ทำให้กระบวนการล่าช้าไป

 

การปรับวงเงินนี้ เป็นการคงเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิม แต่ปรับให้ตัวเลขเหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเพิ่มความคล่องตัวให้ MEA มากขึ้น โครงการขนาดไม่ใหญ่ ก็สามารถตัดสินใจดำเนินการด้วยตัวเองได้

 

     7. เพิ่มอำนาจการเป็นตัวแทนจำหน่าย

ด้วย พ.ร.บ. เดิม MEA มีขอบเขตงานเพียงแค่การจัดจำหน่ายไฟฟ้า แต่ด้วยหน้าที่ที่ต้องดูแลบำรุงระบบไฟฟ้า เราคือคนที่รู้จัก เข้าใจ เชี่ยวชาญการใช้งานอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าต่าง ๆ มากที่สุด การแก้ไข พ.ร.บ. ครั้งนี้ จะขยายโอกาสให้เราสามารถทำธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ หรือกระทั่งให้การรับรองคุณภาพ ซึ่งแต่เดิมไม่เคยทำได้มาก่อน

 

 

เปลี่ยนแล้ว ประชาชนได้อะไร

 

เจตนารมณ์ของการแก้ พ.ร.บ. ครั้งนี้ ก็เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายที่ล้าสมัย ให้ MEA สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้เต็มศักยภาพ เพื่อสร้างระบบไฟฟ้าที่มั่นคงมากขึ้นไปอีก เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา

 

การที่ MEA สามารถดูแลการผลิต ณ จุดจำหน่าย อย่างเช่น solar rooftop ได้ ก็ทำให้ระบบไฟฟ้าที่ใกล้ผู้ใช้มากขึ้นมีความเสถียรขึ้น ลดการสูญเสียระหว่างทาง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดภาระต้นทุนที่ไม่จำเป็น

 

 

พวกเราต้องเตรียมพร้อมอย่างไร

 

พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวงฉบับใหม่ เป็นเหมือนกุญแจที่จะปลดล็อกให้องค์กรของเรา พร้อมรับมือกับอนาคตการใช้พลังงานที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วง รวดเร็ว แต่ที่สำคัญกว่าการแก้ พ.ร.บ. ก็คือ mindset หรือกรอบความคิดของพวกเราทุกคน ที่ต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ กุญแจปลดล็อกเปิดประตูแล้ว แต่หากคนข้างในไม่พร้อมก้าวเดินไป ก็คงไร้ประโยชน์

 

สาเหตุที่พวกเราต้องปรับตัว ไม่ใช่มาจากการที่กฎหมายเปลี่ยนไป ตรงกันข้าม เพราะสถานการณ์โลก เทคโนโลยี ความต้องการของผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปแล้วต่างหาก จึงทำให้ทุกอย่างต้องเปลี่ยน การปรับแก้กฎหมายเป็นหนึ่งการในการปรับตัวที่พวกเราต้องลุกขึ้นมา เปลี่ยนตัวเองให้ทัน ก่อนที่จะโดนบังคับให้ต้องเปลี่ยน

 

ความตื่นตัว ปรับตัวแบบเชิงรุกนี่เอง ที่จะเป็นหัวใจสำคัญต่อไปของคน MEA พวกเราทุกคนต้องเชื่อว่าทุกอย่างทำได้ เป็นไปได้ และเตรียมรับมือกับ Disruption ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานที่พวกเราคุ้นเคย เพราะธุรกิจจัดจำหน่ายไฟฟ้าแบบเดิม ๆ จะอยู่ไม่ได้อีกแล้วในโลกใบใหม่ที่เปลี่ยนไป

 

เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น เราได้เห็นเพื่อนรัฐวิสาหกิจหลายองค์กร ที่วันนี้กำลังลำบาก ต้องดิ้นรนปรับตัวในระบบนิเวศธุรกิจที่ไม่เหมือนกับสมัยที่พวกเขาเคยรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นการบินไทย ที่ขาดทุนหนักมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการเปิดเสรีการบิน จนพายุลูกสุดท้ายก็คือวิกฤตโควิด ที่ทำให้ต้องยื่นล้มละลายในที่สุด หรือ TOT กับ CAT ที่ต้องควบรวมกิจการเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT เมื่อต้นปี 2564 และยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียงไม่ถึง 4% ของเลขหมายทั้งประเทศ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะภายนอกเปลี่ยนแล้ว แต่ภายในปรับตัวไม่ทัน การเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศธุรกิจพลังงานก็กำลังใกล้เข้ามา พวกเราจะปรับตัวให้พร้อมก่อนมันมาถึง หรือจะรอให้คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นซัดโดนพวกเราก่อน แล้วค่อยหาทางหนี ทางเลือกขึ้นกับสิ่งที่พวกเราลงมือทำในปัจจุบัน

 

เมื่อ พ.ร.บ. ฉบับใหม่จะปลดล็อกโอกาสให้พวกเราแล้ว ก็อยู่ที่พวกเราที่จะคว้าโอกาส reskill + upskill ทำทักษะที่มีให้ดีกว่าเดิม + เพิ่มทักษะใหม่ให้ตัวเอง เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างชัด ๆ เช่น เดิมพวกเราอาจจะมีทักษะทางวิศวกรรมสูง แต่โอกาสใหม่ ๆ อาจทำให้เราต้องเจรจาต่อรองกับพันธมิตรมากขึ้น เราจะต่อยอดจากทักษะเดิมได้อย่างไร เราต้องมีความเข้าใจทางเศรษฐศาสตร์มากขึ้น เพราะบทบาทที่ขยายไปสู่การทำ platform ซื้อขาย เราจะเรียนรู้ หรือดึงดูดคนเก่ง ๆ หน้าใหม่ได้อย่างไร กระทั่งทักษะในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะ พ.ร.บ. ใหม่ จะปลดล็อกทรัพย์สิน อาคารสถานที่ ที่เราเหลือจากการใช้ประโยชน์

 

ขั้นตอนการแก้ พ.ร.บ. วันนี้เพิ่งไปถึงครึ่งทาง ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ระหว่างนี้พวกเราจะต้องเตรียมตัว ปรับตัว ดึงดูดพนักงานที่มีทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจในอนาคต หนึ่งในรูปธรรมของการปรับตัว ก็คือการเริ่มบริษัทลูกอย่าง MEAei ที่เหมือนเป็นการซ้อมใหญ่ ก่อนกระโดดเข้าไปทำธุรกิจต้นน้ำ อย่างการผลิตพลังงาน

 

การเปลี่ยนแปลงของวงการพลังงานนับวันจะยิ่งเข้มข้น การแก้ไข พ.ร.บ. ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะ “ปลดล็อก” สร้างโอกาส ขยายงาน เพิ่มความคล่องตัว ให้ MEA ของเราทันโลก

 

และปรับเปลี่ยนตัวเอง... ก่อนที่จะถูกแรงกดดันภายนอกบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลง

 

------------------

ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์ คุณภัทรา สุวรรณเดช ผู้ช่วยผู้ว่าการ

ในประเด็น "ปลดล็อกศักยภาพ MEA เมื่อแก้ พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวง อะไรจะเปลี่ยนไปบ้าง?"

คลิก https://youtube.com/playlist?list=PL1aiIsw_y9f0XXcxODiUyj7VA54z7nwrp

 

------------------

 

อ้างอิง:

https://positioningmag.com/1314137

https://www.yozzo.com/insights/thailands-mobile-market-as-of-q2-2021/

 

------------------

อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ

24 ค่าไฟขึ้น! คน MEA ตอบเพื่อน ๆ อย่างไรได้บ้าง?

23 Energy for City Life, Energize Smart Living วิสัยทัศน์ภาพใหญ่สำเร็จได้ เมื่อทุกจุดพิกเซลพร้อม ‘เปลี่ยน’ บทเรียนจาก Disney ว่าทุกคนคือ Disney

22 โลกใหม่ Metaverse เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ไม่หยุด disrupt ตัวเอง

21 ระบบล่ม โดนแฮ็ก – ข้อมูลลูกค้า กับความรับผิดชอบใหม่ขององค์กร

20 น้องเทนนิส เหรียญทองแรกของไทย - เจ็บแล้วไม่จบ ล้มแล้วไม่เลิก ตราบใดที่ยังไม่หมดเวลา

19 ปักต้นกล้า MEAei ขยายกิ่งก้าน เพื่ออนาคตพลังงานที่สะอาดและฉลาด

18 ตำนานวอลเลย์บอลหญิงไทย – บทเรียน “Resilient” ล้มให้เจ็บน้อย ลุกให้ว่องไว

17 ฉีด – ไม่ฉีด กับการตัดสินใจที่ดีที่สุด

16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม

11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021

10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง

09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต

08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร

07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม

06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล

05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ

04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)

03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)

02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย

01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก

 

 

ค่าไฟขึ้น! คน MEA ตอบเพื่อน ๆ อย่างไรได้บ้าง?

  • Print
Details
กระแสออนไลน์
04 April 2022
Hits: 3875



ค่าไฟขึ้น! คน MEA ตอบเพื่อน ๆ อย่างไรได้บ้าง?

 

จากข่าวการขึ้นค่าไฟ แน่นอนว่าคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครชอบเสียเท่าไร และพวกเราคน MEA ก็คงได้พบเจอคนรอบตัวที่เห็นว่าพวกเราทำงานการไฟฟ้านครหลวง จึงมาบ่นให้ฟัง และสอบถามว่าทำไมค่าไฟต้องขึ้นด้วย

 

รวมถึงการขึ้นค่าไฟรอบนี้ ยังมาในช่วงเวลาหน้าร้อน ที่ปกติเป็นประจำทุกปี ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็อาจยังเข้าใจผิดอยู่แล้วว่าการไฟฟ้าขึ้นค่าไฟ แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ใช่ แต่ด้วยเงินในกระเป๋าที่เขาต้องควักมาจ่ายมากขึ้น ก็อาจทำให้เข้าใจผิดไป

 

แน่นอนว่าเมื่อพวกเราเป็นคน MEA เราทุกคนก็ล้วนเป็นตัวแทนของ MEA ที่ประชาชนอาจรู้สึกว่าถามหาความรู้เรื่องนี้ได้

 

“กระแส” ฉบับนี้จะชวนมาดูว่า ไส้ในของค่าไฟมีอะไรบ้าง และเหตุผลอะไรที่ค่าไฟต้องขึ้น เพื่อให้พวกเราช่วยกันเป็น Brand Ambassador ที่ดี ตอบคำถามแทนองค์กรแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคน

 

 

 

ค่าไฟมาจากไหน ใครกำหนด?

 

ก่อนอื่นต้องตอบชัด ๆ ก่อนว่าโครงสร้างราคาค่าไฟ ไม่ได้มาจาก MEA แต่เป็นการกำหนดมาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่แน่นอนเมื่อ MEA เป็นด่านหน้า ที่ให้บริการกับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง เวลาคนสงสัยไม่เข้าใจเรื่องค่าไฟ เราก็มักจะรับเรื่องร้องเรียนเป็นด่านแรก

 

ในฐานะพนักงานที่จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ใช้ไฟฟ้าให้ตรงกันคือ ราคาค่าไฟที่พวกเราทุกคนจ่ายกันอยู่นั้น แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ

  1. ค่าไฟฟ้าฐาน
  2. ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร >> Fuel Adjustment Charge เรียกสั้น ๆ ว่า Ft
  3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ส่วนที่ 1 และ 3 นั้น เรียกว่าเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เพราะ 1. ค่าไฟฟ้าฐาน ต้นทุนหลักคือการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบสายจำหน่าย ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และค่าใช้จ่ายนโยบายภาครัฐที่กำหนดไว้ในฐาน โดยจะทบทวนทุก 3-5 ปี รวมถึงค่าบริการจดหน่วยค่าไฟ ออกบิล ดูแลการบริการผู้ใช้ไฟฟ้า ของ MEA ก็อยู่ในส่วนนี้ ส่วน 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเท่ากับที่เราจ่ายเวลาซื้อสินค้าทั่วไปอยู่แล้ว ที่ 7%

 

จุดที่ทำให้เปลี่ยนแปลงจริง ๆ คือ 2. ค่า Ft ซึ่งทบทวนทุก 4 เดือน โดยการเพิ่มขึ้นตรงนี้ สาเหตุหลักมาจากค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ซึ่งก็คือ ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้นนั่นเอง

 

ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทย ยังพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนถึง 55% ทำให้ราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้น กระทบกับค่าไฟอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

 

แล้วทำไมราคาก๊าซถึงขึ้น สงครามรัสเซีย-ยูเครนอยู่ตั้งไกลประเทศเรา กระทบกันได้อย่างไร?

 

สาเหตุสำคัญของราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น มาจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก ด้วยปริมาณก๊าซธรรมชาติถึง 24% ของทั้งโลก

 

ความไม่แน่นอนจากสงคราม การแบนไม่ให้รัสเซียขายน้ำมันและก๊าธรรมชาติของหลายประเทศ ส่งผลให้ราคาพุ่งทะยานทำสถิติใหม่ จากราคาเพียง 3.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ในเดือนกุมภาพันธ์ กระโดดขึ้นมาถึง 5.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ในระยะเวลาเพียง 1 เดือนจากการบุกเข้ายูเครน นับเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 43.6%

 

ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งนี่เอง ที่ทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีมติให้ปรับค่า Ft เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย โดยจะมีผลในรอบเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม 2565

 

 

 

หน้าร้อนทีไร ค่าไฟแพงขึ้นทุกที เพราะ MEA ขึ้นราคาหรือเปล่า?

 

ยังเป็นความเข้าใจผิดที่ผู้ใช้ไฟฟ้าหลายคนยังมีอยู่ เพราะหน้าร้อนทีไร เงินในกระเป๋าก็หายไปเป็นค่าไฟเยอะขึ้นทุกที หลายคนเลยสงสัยว่า เป็นเพราะการไฟฟ้าขึ้นค่าไฟหรือเปล่า

 

แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะนอกจากต้นทุนค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในหน้าร้อน ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ไม่ว่าจะเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ต่างก็มีภาระที่ต้องทำงานหนักขึ้น ใช้พลังงานมากขึ้น สู้กับอากาศร้อนจึงเป็นธรรมดาที่หน่วยไฟฟ้าที่เราใช้จะสูงขึ้น

 

เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดที่มีมานาน และ MEA ก็พยายามสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งพวกเราคน MEA ทุกคนต้องช่วยกันกระจายความรู้ ถ่ายทอดเทคนิคการประหยัดไฟ ไม่ว่าจะเป็นการล้างแอร์อย่างถูกวิธี การเปิดพัดลมช่วย การจัดระเบียบตู้เย็นให้เหมาะสม ไม่รีดผ้าพร้อมกับเปิดแอร์ไปด้วย ก็จะยิ่งช่วยให้ผู้ใช้ไฟ สามารถประหยัดในภาวะที่ลำบากแบบนี้ได้

 

 

รายการ “ชัวร์ ก่อน แชร์” ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ฝวจ.

https://youtu.be/2zGcKCDHxlc

https://fb.watch/c4Zbm1tCKs/

ไฟฟ้าหน้าร้อน

https://www.youtube.com/playlist?list=PL1aiIsw_y9f1P1LZn8MKCaNGnc7V6TsA8

 

 

 

เทคนิคประหยัดไฟ ​​ใคร ๆ ก็ทำได้

https://www.facebook.com/photo/?fbid=338016468368038&set=a.337032765133075

https://www.facebook.com/497340003626475/photos/a.915263568500781/5648136695213421/

https://www.facebook.com/497340003626475/photos/a.915263568500781/5626127684080989/

https://www.facebook.com/497340003626475/photos/a.915263568500781/5604088442951580/

 

 

ดูเอาขำ แต่ช่วยประหยัดไฟได้แบบไม่ขำ ๆ

MEA x ขายหัวเราะ

https://www.youtube.com/playlist?list=PL1aiIsw_y9f21S0bil0bgbBIAVnFMVFJO

https://www.facebook.com/239567576077480/posts/5334606913240162

 

 

แม้การขึ้นค่าไฟ จะไม่ใช่การตัดสินใจของเรา

แม้ค่าไฟที่แพงขึ้นในหน้าร้อน จะไม่ใช่เพราะการขึ้นราคาของเรา

แต่อย่าลืมว่า อะไรที่เกี่ยวกับไฟฟ้า ลูกค้าก็ต้องนึกถึงเราก่อนอยู่แล้ว

มาถาม หรือบ่นให้ฟัง เพราะเขา ‘หวัง’ ให้เรามีคำตอบ

 

โดยเฉพาะคำตอบของการขึ้นค่าไฟรอบนี้ ที่เป็นไปตามกลไกตลาดโลก เมื่อราคาเชื้อเพลิงขึ้น ค่าไฟก็ต้องสะท้อนต้นทุนจริงที่เกิดขึ้นด้วย (คลิกอ่านคำชี้แจ้งอย่างเป็นทางการได้ที่ https://www.mea.or.th/download/2985/3195)

 

แต่พวกเราทุกคนก็เหมือนเป็นตัวแทนขององค์กร ที่ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงช่วยกันแนะนำเทคนิคการประหยัดไฟ เท่าที่จะทำได้ เพื่อรับมือกับหน้าร้อนที่กำลังจะมาถึง

 

มองอีกมุม นี่ถือเป็นเรื่องดี เพราะหากพูดถึง ‘ไฟฟ้า’ แล้วลูกค้าไม่นึกถึงเรา เราคงต้องหวั่นใจและสงสัยในตัวเองกันบ้างแล้ว

 

ในเมื่อผู้ใช้ไฟ ‘หวัง’ ให้เราตอบคำถาม และช่วยแนะนำการประหยัดค่าไฟฟ้าในหน้าร้อนให้เขาได้

หากเราทำได้ตามที่เขาหวัง หรือเกินความคาดหวัง ด้วยการมีคำตอบที่ถูกต้อง และแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาที่สุด นั่นหมายถึงเราได้เข้าไปนั่งในใจเขาแล้ว

 

เชื่อเหลือเกินว่าหากทุกการใช้ไฟฟ้าของเขา มีเราในใจ อนาคตต่อไป ไม่ว่าจะธุรกิจต่อยอดอะไรของ MEA เราก็คงจะเป็นองค์กรแรก ๆ ที่ผู้ใช้ไฟฟ้านึกถึงและใช้บริการเราตลอดไป

 

และเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ด้วย... เราก็อยู่ได้เช่นกัน

 

 

 

****************

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ฝ่ายเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า

 

****************

 

 

อ้างอิง :

http://www.eppo.go.th/images/Energy-Statistics/energyinformation/Energy_Statistics/00All.pdf

 

https://www.worldometers.info/gas/russia-natural-gas/#:~:text=Gas%20Reserves%20in%20Russia&text=Russia%20holds%201%2C688%20trillion%20cubic,102.3%20times%20its%20annual%20consumption.

 

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/00/Exhibition_%C2%ABPresence._Proofs_of_Russian_troops%27_aggression_on_the_territory_of_Ukraine%C2%BB_in_Kiev%2C_February_21-28%2C_2015.jpg

 

https://accesstrade.in.th/wp-content/uploads/2020/11/%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%97%E0%B8%B5-%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87-4-%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99.jpg

 

https://promotions.co.th/wp-content/uploads/2020/03/772.jpg

 

--------------------------------

 

อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ

23 Energy for City Life, Energize Smart Living วิสัยทัศน์ภาพใหญ่สำเร็จได้ เมื่อทุกจุดพิกเซลพร้อม ‘เปลี่ยน’ บทเรียนจาก Disney ว่าทุกคนคือ Disney

22 โลกใหม่ Metaverse เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ไม่หยุด disrupt ตัวเอง

21 ระบบล่ม โดนแฮ็ก – ข้อมูลลูกค้า กับความรับผิดชอบใหม่ขององค์กร

20 น้องเทนนิส เหรียญทองแรกของไทย - เจ็บแล้วไม่จบ ล้มแล้วไม่เลิก ตราบใดที่ยังไม่หมดเวลา

19 ปักต้นกล้า MEAei ขยายกิ่งก้าน เพื่ออนาคตพลังงานที่สะอาดและฉลาด

18 ตำนานวอลเลย์บอลหญิงไทย – บทเรียน “Resilient” ล้มให้เจ็บน้อย ลุกให้ว่องไว

17 ฉีด – ไม่ฉีด กับการตัดสินใจที่ดีที่สุด

16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม

11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021

10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง

09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต

08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร

07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม

06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล

05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ

04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)

03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)

02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย

01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก

 

Energy for City Life, Energize Smart Living วิสัยทัศน์ภาพใหญ่สำเร็จได้ เมื่อทุกจุดพิกเซลพร้อม ‘เปลี่ยน’ บทเรียนจาก Disney ว่าทุกคนคือ Disney

  • Print
Details
กระแสออนไลน์
16 March 2022
Hits: 1939

 

Energy for City Life, Energize Smart Living

วิสัยทัศน์ภาพใหญ่สำเร็จได้ เมื่อทุกจุดพิกเซลพร้อม ‘เปลี่ยน’  บทเรียนจาก Disney ว่าทุกคนคือ Disney

 

งานวันสื่อสารวิสัยทัศน์ “Together for Smart Living รวมพลังเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร” จบลงไปแล้ว พวกเราได้ฟังแนวคิดวิสัยทัศน์จากผู้ว่าการคนใหม่ของพวกเรา คุณวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงคนที่ 18  

 

แล้ววิสัยทัศน์ ที่เป็นเหมือนเป้าหมาย เป็นเส้นชัยปลายทางในอนาคตของ MEA รวมทั้งเส้นทางเพื่อจะถึงเส้นชัยนั้นเป็นอย่างไร พวกเราทุก ๆ คน ในฐานะ “คน MEA” มีบทบาทอย่างไรตลอดเส้นทางนั้น

 

กระแสฉบับนี้จะพาไปทุกคนไปสัมผัสบทเรียนจากองค์กรระดับโลกอย่าง Disney ว่าพวกเขาทำอย่างไร ให้พนักงานทุกคน ตั้งแต่คนขายตั๋ว นักแสดงใส่ชุดมิกกี้เมาส์ ไปจนถึงฝ่าย IT ที่ไม่ได้พบเจอหน้าลูกค้าเลยด้วยซ้ำ ได้เห็นบทบาทของตัวเอง ในการ “สร้างควาสุข” ตามวิสัยทัศน์ของ Disney

 

 

 

MEA = คน MEA

 

“ใน 20 ปีข้างหน้า MEA ของเราจะเป็นอย่างไร จะก้าวไปสู่เส้นทางนั้นด้วยกระบวนการอย่างไร การที่จะขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่ ผมในฐานะผู้ว่าการทำคนเดียวไม่ได้หรอกครับ เราต้องทำงานเป็นทีม พวกเราเองที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน เป็นผู้บริหาร”

 

ประโยคเปิดของผู้ว่าการคนใหม่ ตอกย้ำให้พวกเราทุกคนได้เห็นว่าองค์กรที่แม้ดูใหญ่โตเมื่อมองจากภายนอก แต่ภายในล้วนประกอบขึ้นจากคนเล็ก ๆ ข้างในทุกคนรวมกัน และการพัฒนาคนนั้น เป็นความสำคัญอันดับแรกที่ผู้ว่าการย้ำชัดเจนว่าจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นภายใน 3 ปีแรก

 

“ไม่ว่า Vision จะว้าวขนาดไหน Mission จะชัดเจนขนาดไหน ถ้าเราไม่มีวัฒนธรรมเป็นตัวกำกับการดำเนินงาน ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ทำอย่างไรให้ C-H-A-N-G-E มันอยู่ในสายเลือดของเราทุกคน”

 

ผู้ว่าการยังเพิ่มเติมอีกว่าค่านิยม C-H-A-N-G-E ไม่ใช่ของใหม่ที่ต้องสร้าง แต่ต้องซึมซับ ให้เป็น Work in process อยู่ในทุกกระบวนการทำงานของเรา อยู่ในสายเลือด พวกเราทุกคนอยู่ใน Roadmap ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้ MEA บรรลุวิสัยทัศน์ที่วาดฝันกันไว้ในปี 2580

 

 

Energy for City Life, Energize Smart Living และ 3 ความเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบองค์กร

 

ผู้ว่าการได้เปิดประเด็นในอนาคตให้พวกเราได้เห็นถึง Trend ความเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามากระทบองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องแรกคือ ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม นโยบายของทุกประเทศทั่วโลก ที่จะมุ่งสู่ Net Zero หรือการไม่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ประเทศไทยก็จะเป็นหนึ่งในนั้น ที่นายกรัฐมนตรีของเราได้ไปแถลงไว้แล้วในเวที COP26 ว่าจะบรรลุเป้าหมายให้ได้ในปี 2065 แน่นอนว่าอุตสาหกรรมพลังงานนั้นเกี่ยวข้องตรง ๆ เต็ม ๆ

 

เรื่องที่สอง คือ Energy Transformation การเปลี่ยนแปลงอย่าง Decarbonization, Decentralize, Digitalization, Deregulation จะเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ของ MEA ไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม รัฐวิสาหกิจจะไม่ได้อยู่ในสถานะผูกขาดแบบเดิมอีกต่อไป แล้วพวกเราจะปรับตัวกันอย่างไร

และเรื่องสุดท้าย คือการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และการสนับสนุนของรัฐอย่างเต็มที่ ใน EV ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งความท้าทาย และโอกาสใหม่ ๆ ของ MEA ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราจะเตรียมพร้อมคว้าไว้มากแค่ไหน

 

นั่นเป็นที่มาของวิสัยทัศน์ Energy for City Life, Energize Smart Living ซึ่งหากวิเคราะห์คำให้ลึกลงไป ก็จะพบว่าแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ Energy for City Life ที่ผู้ว่าการลงรายละเอียดคือ 4 ด้านสำคัญที่ MEA ต้องสร้างให้เกิด นั้นคือ Stability ที่พวกเราต้องยืนยันกับผู้ใช้ไฟกว่า 10 ล้านคน ว่าไฟฟ้าจะพึ่งพาได้ จะมีเสถียรภาพ  Sufficiency จะเพียงพอ  Safety จะปลอดภัยกับทุกคน และ Scenery เป็นส่วนสร้างเมืองที่สวยงาม

 

อีกส่วนคือ Smart Living ซึ่งตกผลึกวิถีชีวิตลูกค้าผู้ใช้ไฟที่เปลี่ยนแปลงไป บทบาทหน้าที่สำคัญของ MEA ที่เป็นเป้าหมายในส่วนนี้ จึงเป็นการให้บริการได้จากทุกที่ (MEA service from everywhere) การยกระดับการบริการดิจิทัลที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงเราได้ทุกที่ทุกเวลา


เพราะการเป็น "พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร" นั้นไม่ใช่เพียงการเป็นผู้ซื้อ ผู้ขาย ซึ่งกันและกัน แต่เราคือผู้อยู่เบื้องหลังที่สร้างความสะดวกสบาย วิถีชีวิตที่ดี ต่อผู้ใช้ไฟที่เราดูแล

 

วิสัยทัศน์เป็นจุดหมายปลายทาง เพื่อให้เรามีจุดโฟกัสในการเดินไปข้างหน้า แต่เช่นเดียวกับภาพใหญ่ที่ประกอบขึ้นจากจุดเล็ก ๆ วิสัยทัศน์ขององค์กรก็ต้องขับเคลื่อนจากความสำเร็จเล็ก ๆ ของแต่ละหน่วยงานโดยไปในทิศทางเดียวกัน

 

 

Photo Credit: Disney Institute

 

หัวใจสำคัญคือ “คน” บทเรียนจาก Disney

 

อย่างที่ผู้ว่าการได้กล่าวไว้ว่า หัวใจสำคัญที่สุดของวิสัยทัศน์ไม่ใช่แผนหรือคำพูดสวยหรู แต่คือการที่ “คน MEA” อย่างพวกเราทุกคน เข้าใจถึงเป้าหมายนั้นอย่างแจ่มชัด เห็นบทบาทว่าตัวเองมีผลต่อเส้นทางไปถึงเป้าหมายนั้นอย่างไร ในทุกวันนี้ที่เราทำงาน เราทำอะไรให้เข้าใกล้เป้าหมายขององค์กรมากขึ้นบ้าง

 

ซึ่งหนึ่งในองค์กรระดับโลกที่เราเรียนรู้จากเขาได้ในเรื่องนี้ ก็คือ Disney

 

Disney เป็นองค์กรใหญ่ที่มีธุรกิจหลากหลายไม่ว่าจะเป็น Studio สร้างภาพยนตร์ Steaming service หรือสวนสนุก แต่ไม่ว่าจะธุรกิจใด ล้วนอยู่ใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน นั่นคือการสร้าง “ความสุข” ให้กับผู้คน

 

คุณบรูซ โจนส์ Senior Programming Director แห่ง Disney Institute ได้เล่าถึงคำพูดของคุณวอลต์ ดิสนีย์ ผู้ก่อตั้งบริษัทว่า “คุณสามารถฝัน สร้าง ออกแบบ และสร้างสวนสนุกที่น่าอัศจรรย์ที่สุดในโลกได้ แต่มันจำเป็นต้องมีผู้คนที่มาทำความฝันนั้นให้เป็นจริง”

 

ด้วยเพราะธุรกิจสร้างความสุขนั้น สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องพึ่ง “คน” ที่เป็นเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในสวนสนุกที่ต้องพร้อมด้วยรอยยิ้มและดูแลลูกค้าให้มีความสุขตลอดเวลา หรือทีมออกแบบสร้างการ์ตูนที่ต้องส่งต่อความสุขให้ผู้คนผ่านหน้าจอ ที่ Disney จึงให้ความสำคัญกับการอบรมพนักงานเป็นอย่างยิ่ง ถึงขั้นสร้าง Disney University มหาวิทยาลัยที่พนักงานทุกคนต้องผ่านหลักสูตรอันเข้มข้นของที่นี่ก่อนจะเริ่มงาน

 

ณ วันแรกที่พนักงานใหม่มาเริ่มงาน ทุกคนไม่ว่าตำแหน่งไหน ระดับงานใด ต้องผ่านคลาสที่เรียกว่า “Tradition” ที่อาจแปลได้ว่า คลาสวัฒนธรรมของดิสนีย์

 

สิ่งแรกที่คลาสนี้สอนพนักงาน ไม่ได้มีอะไรที่เป็นความรู้ทางเทคนิคหน้างานเลย แต่สิ่งที่ดิสนีย์ให้ความสำคัญ และถ่ายทอดผ่านคลาสที่บังคับให้พนักงานทุกคนเข้านี้ กลับเป็นการเสริมพลังให้ทุกคนได้เห็นถึง “ภาพใหญ่” ว่าคุณค่าแห่งการมีอยู่ของดิสนีย์ คือ การสร้างความสุขให้ผู้คน และสิ่งนี้ต้องสะท้อนผ่านทุกงานที่ทุกคนทำในทุกวัน

 

เจ้าหน้าที่ฝ่าย IT คนหนึ่งของดิสนีย์บอกเล่าว่า แม้เขาจะดูไม่น่ามีสัมพันธ์อะไรเลยกับลูกค้าในสวนสนุก แต่เขาก็ต้องผ่านคลาส Tradition นี้ด้วย และเขาก็ยังจดจำเรื่องน่าประทับใจที่เขาได้จากคลาสนี้ และเป็นส่วนที่สะท้อนรายละเอียดได้ดีมากถึงการส่งผ่านวิสัยทัศน์ ลงมาจนถึงเรื่องเล็ก ๆ ในการทำงาน

 

เจ้าหน้าที่ท่านนี้เล่าเรื่องของ “Disney Point” ว่าที่ Disney ห้ามการใช้นิ้วชี้ในการชี้ไปที่ไหนก็ตาม เพราะในบางวัฒนธรรม การถูกชี้นิ้วใส่ถือเป็นเรื่องไม่สุภาพ และ Disney มีลูกค้าที่มาจากทุกพื้นเพ เรื่องนี้แม้จะดูเล็กแต่ก็สำคัญสำหรับ Disney

 

เขายังเล่าต่อถึงเรื่องราวที่ได้รับฟังจากคลาสนี้ อย่างเรื่องของถังขยะ เพราะที่ทางเข้าของสวนสนุก Disney จะมีการแจกขนม และรวมถึงในสวนก็มีร้านขายอาหารเครื่องดื่มกระจายอยู่ด้วย ทีมงานของ Disney จึงต้องมีการวิจัยถึงขนาดที่แอบเดินตาม “แขก” (ที่ Disney ไม่ใช่คำว่า “ลูกค้า” แต่เรียกทุกคนที่มาเที่ยวว่า “แขก”) ว่าขนมที่แจกไป พวกเขากินหมดหลังจากเดินไปกี่ก้าว และ ณ จุดนั้น ต้องมีถังขยะเตรียมไว้ เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องถือขยะเลอะ ๆ ติดมืือไปด้วย

 

มาตรฐานความสะอาดภายในสวนสนุกเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับ Disney และผู้นำของ Disney เองก็สื่อสารอย่างชัดเจนผ่านการลงมือทำ ในคลาส Tradition มีการบอกเล่าเรื่องราวที่คุณวอลต์ ดิสนีย์ เดินตรวจตราในสวนสนุก และพบขยะอยู่ชิ้นหนึ่ง เขาได้ก้มลงไปเก็บด้วยตัวเอง จนพนักงานที่ติดตามมาด้วยบอกว่า เรามีคนทำความสะอาดที่พร้อมจะจัดการอยู่แล้วนะ แต่คุณวอลต์กลับตอบว่า “ใช่ และคนคนนั้นก็คือคุณ” เรื่องนี้ตอกย้ำว่าทุกคนใน Disney ไม่ว่าตำแหน่งใด หรือทำอะไร ต่างมีหน้าที่ช่วยกันดูแลความสะอาด เจ้าหน้าที่ IT คนนี้ยังเล่าว่า เขายังติดนิสัยเก็บขยะขึ้นมานี้ แม้เวลาที่เขาพาลูกไปเที่ยวสวนสนุก Disney ด้วยตัวเองแม้เป็นนอกเวลางานก็ตาม

 

ทุกการออกแบบ ทุกกิจกรรมภายในสวนสนุก Disney ให้ความสำคัญว่าทุกอย่างจะต้องย้อนกลับไปที่โจทย์ให้ได้ว่าสะท้อนภาพใหญ่ของการสร้างความสุขให้ผู้คนอย่างไร อีกหนึ่งเรื่องราวจากคลาสนี้ คือเรื่องที่สนามหญ้ามีรอยแหว่งเพราะคนมาเที่ยวเดินลัดสนามกันจนหญ้าตายไปหมด เมื่อคุณวอลต์ ดิสนีย์มาเห็น เจ้าหน้าที่รีบลนลานมาตอบว่าจะเร่งดำเนินการเอารั้วมาติดให้เรียบร้อยโดยเร็ว แต่คุณวอลต์กลับตอบว่า ถ้าคนชอบเดินทางนี้ ก็ควรจะเอาทางเดินมาลง ให้คนเดินง่าย ๆ ไม่ต้องเหยียบหญ้าจะดีกว่า หรือกระทั่งพนักงานขายของที่ระลึกในสวนสนุก ที่ Disney ไม่ได้เรียกตำแหน่งนี้ว่า Sales person แต่เรียกว่า Merchantainment มาจาก Merchandize และ Entainment นั่นคือ หน้าที่เขาไม่ใช่การขายของ แต่เป็นการเอาของ มาสร้างความสนุก มาเล่นกับแขกที่มาเที่ยว เราจะเห็นพนักงานของดิสนีย์เอาเข็มกลัดมาแลกกับเด็ก ๆ เป็นเรื่องปกติ ทั้ง ๆ ที่เข็มกลัดนั้นเป็นของที่ขายภายในสวนสนุก

 

จะเห็นได้ว่า “ภาพใหญ่” วิสัยทัศน์ของการสร้างความสุขนั้น ถูกส่งต่อ และถ่ายทอดไปถึงสิ่งที่พนักงานทุกคนทำ ไปถึงสิ่งเล็ก ๆ กระทั่งถังขยะ หรือหญ้าในสนาม

 

 

ถึงเวลา “ปักธงเป้าหมาย”

 

บรรยากาศภายในงานวันสื่อสารวิสัยทัศน์ของพวกเรา เต็มไปด้วยพลัง และแรงบันดาลใจ การได้ฟังตัวแทนจากแต่ละหน่วยงานช่วยยืนยันกับพวกเราได้อย่างแจ่มชัดว่า ทุกคนรับรู้บทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่แล้ว

 

จากนี้ไปก็ถึงเวลาที่พวกเราทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกที่ทำการ จะมา “ปักธงเป้าหมาย” ให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ขององค์กร และเมื่อเป้าหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แรงขับเคลื่อน ผลสำเร็จจากทุกหน่วยงานก็จะช่วยเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางที่ตั้งใจไว้

 

บทสรุปของงานสื่อสารวิสัยทัศน์ “Together for smart living รวมพลังเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร” ชัดเจนมากว่าพวกเราทุกคนเป็นส่วนสำคัญในการไปสู่วิสัยทัศน์ โดยหวังว่าทุกคนจะเห็นภาพตรงกัน และพร้อมจะขับเคลื่อนไปด้วยหัวใจเดียวกัน เหมือนบทเรียนจากองค์กรระดับโลกอย่าง Disney

 

การที่ลูกค้าเดินลัดสนามหญ้า อาจดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากเราใส่ใจรายละเอียด อาจจะพบที่มาที่ไปที่อยู่ในใจลูกค้า เฉกเช่น MEA ที่เพิ่มจุดติดตั้งสถานีชาร์จ EV บริเวณร้านสะดวกซื้อ และคอนโดมิเนียม และแน่นอนว่าเราคงจะไม่หยุดแค่นี้

 

เรื่องเล็ก ๆ อย่างการนับก้าวลูกค้าเพื่อวางตำแหน่งถังขยะที่สะท้อนทัศนคติของคนในองค์กรว่าใส่ใจรายละเอียด และพัฒนาอย่างไม่หยุด เฉกเช่น MEA ที่ตั้งใจจะเก็บรายละเอียดกระบวนงาน Virtual District ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้ก้าวไปพร้อมกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของลูกค้า

 

การให้ความสำคัญในเรื่องเดียวกัน การเห็นเป้าหมายเดียวกันสู่วิสัยทัศน์ จะทำให้ทุกงาน ทุกวัน ทุกเรื่องเล็ก ๆ เป็นไปเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างสอดประสานซึ่งกันและกัน

 

วันนี้เราได้เห็น “ทิศทาง” แล้ว

ถึงเวลาที่จะต้องสร้าง “เส้นทาง” ของแต่ละคน และเดินไปข้างหน้า สู่ปลายทางเดียวกัน

 

--------------------------------

อ้างอิง :

https://hbr.org/sponsored/2018/02/how-disney-empowers-its-employees-to-deliver-exceptional-customer-service

https://www.disneyfanatic.com/10-amazing-ways-disney-trains-cast-members/

https://www.quora.com/How-does-Disney-University-train-its-employees

 --------------------------------

 

อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ

22 โลกใหม่ Metaverse เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ไม่หยุด disrupt ตัวเอง

21 ระบบล่ม โดนแฮ็ก – ข้อมูลลูกค้า กับความรับผิดชอบใหม่ขององค์กร

20 น้องเทนนิส เหรียญทองแรกของไทย - เจ็บแล้วไม่จบ ล้มแล้วไม่เลิก ตราบใดที่ยังไม่หมดเวลา

19 ปักต้นกล้า MEAei ขยายกิ่งก้าน เพื่ออนาคตพลังงานที่สะอาดและฉลาด

18 ตำนานวอลเลย์บอลหญิงไทย – บทเรียน “Resilient” ล้มให้เจ็บน้อย ลุกให้ว่องไว

17 ฉีด – ไม่ฉีด กับการตัดสินใจที่ดีที่สุด

16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม

11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021

10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง

09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต

08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร

07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม

06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล

05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ

04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)

03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)

02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย

01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก

 

Page 1 of 6

  • Start
  • Prev
  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5
  • 6
  • Next
  • End