KEN by MEA คืออะไร? เปิดวาร์ปประสบการณ์ใหม่ของธุรกิจ MEA กับคำถามที่คน MEA อยากรู้
เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยกับอีกหนึ่งโฉมการให้บริการของ MEA ที่เรียกได้ว่าเป็นการรีแบรนด์ครั้งสำคัญของธุรกิจเกี่ยวเนื่องของเรา ... KEN by MEA
สิ่งที่คน MEA น่าจะรู้อยู่แล้วคือ นอกเหนือจากการจำหน่ายไฟฟ้า MEA มีบริการหลังเครื่องวัดด้วย
แต่สิ่งที่อาจยังไม่รู้คือเหตุผลว่า ทำไม MEA ต้องปรับโฉมการให้บริการหลังเครื่องวัดเหล่านั้น
ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ลดลงทุกปี นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา และความเป็นจริงอีกข้อหนึ่ง คือ ปัจจุบันเราพึ่งพิงรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าถึงกว่า 98%
คงจะไม่ผิดนัก หากพูดว่า การจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า “รูปแบบเดิม” เริ่มอิ่มตัว
ถึงตรงนี้ คำถามและความสงสัยอาจเริ่มก่อตัว ในเมื่อ EV ก็มาแรง Solar ก็กำลังบูม แถมช่วงวิกฤตโควิด 2-3 ปีที่ผ่านมา คนน่าจะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
คำตอบคือ เหล่านั้นมันคือการใช้พลังงานไฟฟ้า “รูปแบบใหม่” หรือการให้บริการหลังเครื่องวัด ที่เกิดแทรกขึ้นมาและเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
เมื่อตลาดใช้พลังงานแบบเดิมเริ่มถดถอย ในขณะที่อีกตลาดกำลังไปได้สวย จนใครก็อยากกระโดดเข้าไป แล้วเรา... ผู้จับจอง เรื่อง ‘ไฟฟ้า’ ของเมืองมากว่า 60 ปี จะอยู่เฉยได้อย่างไร
กระแสฉบับนี้ จะพาทุกคนเปิดวาร์ป ธุรกิจเกี่ยวเนื่องของ MEA ที่ไม่ใช่แค่ ‘ควรมีในตลาด’ แต่ ควรต้องมีให้ตลาดจับตามอง
Key Energy Now : KEN
“กุญแจ” ไขปัญหาด้านไฟฟ้าและพลังงานให้กับลูกค้า เพื่อพาวิถีชีวิตชาวมหานคร ให้เริ่มต้นอนาคต... ตั้งแต่วันนี้
ปัจจุบัน MEA พึ่งพิงรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นหลัก ในเมื่อรายได้ในส่วนนี้เริ่มลดลง การหารายได้เพิ่มจากตลาดพลังงานรูปแบบใหม่ที่กำลังเปิดกว้าง จึงจำเป็นอย่างปฏิเสธไม่ได้
แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ เมื่อตลาดเปลี่ยน การใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ๆ กำลังเติบโต ความต้องการผู้ใช้ไฟฟ้าเบนเข็ม เราจะเป็น “พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร” ไม่ได้เต็มภาคภูมิ หากเรารองรับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้
KEN by MEA หรือ Key Energy Now by MEA มัดรวม 4 ธุรกิจเกี่ยวเนื่องของ MEA
- บริการออกแบบติดตั้งระบบไฟฟ้า EPC (Engineering Procurement and Construction) ทั้งแรงสูง แรงกลาง แรงต่ำ
- บริการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าเชิงป้องกัน PM (Preventive Maintenance)
- บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ (Solar Cell)
- ธุรกิจบริการเกี่ยวกับ EV (EV Charger)
หลายคนอาจถาม นั่นคือสิ่งที่ MEA ทำอยู่แล้ว ซึ่งถูกต้อง แต่ไม่ทั้งหมด
KEN by MEA จะเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ลูกค้าจะได้รับ เพราะเรายกระดับการให้บริการที่ตอบสนองมากขึ้น พูดง่าย ๆ คือ 4 ธุรกิจ แบบอัปเกรดนั่นเอง ซึ่งหัวเรือใหญ่ที่ดูแลคือ ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า (ฝธค.) โดย ฝธค. ได้ตั้งทีมงานขึ้นมาโดยเฉพาะ เสริมทัพด้วยทีมงานจากหน่วยงานที่เป็น touch point เช่น ฝตพ. ฝบก. Call Center ฝพท. ฯลฯ
เราอยากสร้างการรับรู้ใหม่ของธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างตัวตนของธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้ชัดเจน โดยแยกธุรกิจออกจากภารกิจหลักของ MEA ด้วยทีมทำงานที่เป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญ เข้าใจผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นมิตร และทันสมัย เพื่อรองรับบริการสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ครอบคลุม
ที่เรากำลังจะลุยเต็มที่ขนาดนี้ ก็เพราะว่า ภายหลังจากมติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพิ่มขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2565 ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ส่งผลให้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 22% หรือแตะระดับ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2568 คนไทยสนใจติดโซลาร์รูฟท็อป เพิ่มขึ้น 4 เท่า สะท้อนจากคำค้นหาเกี่ยวกับ “ติดตั้งโซลาร์เซลล์” ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
มาดูเรื่อง EV Charger กันบ้าง ขนาดตลาดสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตจาก 2,115,000 หน่วยในปี 2563 เป็น 30,758,000 หน่วยภายในปี 2570 คิดเป็น 46.6% ส่วนในประเทศไทย คาดว่าใน 4 ปี มูลค่าการตลาดจะเติบโตขึ้นแตะ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่ม 170 เท่าตัวจากปัจจุบัน
สำหรับ EPC และ PM มันคือสิ่งที่เราถนัดมาอย่างยาวนาน มีฐานลูกค้าอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง จึงไม่มีเหตุผลฉุดรั้งว่าทำไมเราจะไม่เดินหน้าขยายตลาดต่อ เพราะความต้องการแม้ไม่พุ่งทะยานเหมือน Solar และ EV แต่ก็ไม่เคยถดถอย อย่างตลาด EPC ก็เติบโตอย่างเงียบ ๆ ชนิดที่บริษัทใหญ่ร่วมทุนกันเพื่อทำธุรกิจนี้ก็มีให้เห็นไม่น้อย
จุดแข็ง - จุดขาย - จุด KEN ให้ติดตลาด
เมื่อยังมีพื้นที่อีกมากในตลาดให้ ‘ผู้ที่พร้อม’ กระโดดเข้าไป เมื่อมี ‘ลูกค้า’ มากมายในตลาด รอผู้ที่ตอบสนองความต้องการเขาได้มากที่สุด มันคือคอนเซปต์ “ใครดี ใครได้” แต่คนที่อยากได้... ก็ต้องดีพอ
หากชำแหละผู้เล่นในตลาด 4 ธุรกิจนี้ว่ามีดีอย่างไรบ้าง พูดง่าย ๆ ว่าลูกค้าควรเลือกเจ้าไหน จะเห็นว่าพื้นฐานไม่ต่างกันมาก ดูไม่ยาก เพราะสเป็กของดีก็แพงขึ้นมาหน่อย แต่ที่ตัดกันส่วนมากจะเป็นเรื่องความสะดวก ครบวงจร และความรวดเร็วในการติดต่อประสานงานและติดตั้ง
Solar Cell - สเป็กของอุปกรณ์ที่ติดตั้ง เช่น แผงโซลาร์เซลล์ อินเวอร์เตอร์ เกรดสายไฟ ระบบเป็น 1 เฟสหรือ 3 เฟส การรับประกัน ราคารวมการขออนุญาตหรือไม่ ระยะเวลาติดตั้ง ฯลฯ บางเจ้าก็งัดกลเม็ดที่แตกต่างออกมาเพื่อดึงดูด เช่น SCG Solar Roof Solutions มีนวัตกรรม Solar FIX ติดตั้งแผงได้โดยไม่ต้องเจาะหลังคา ซึ่งเป็นสิทธิบัตรเฉพาะ SCG หรือหลายเจ้าที่มีแอปฯ ที่สามารถเช็กประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ได้แบบ Realtime แต่ที่หลายเจ้าอาจไม่ได้พูดถึง คือการบำรุงรักษาทั้งตัวแผงและระบบ รวมทั้งการเช็กสุขภาพของระบบภายในบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และความชำนาญในการเชื่อมต่อระบบ
EV Charger - โปรโมชันระยะหลังนี้ ซื้อรถ แถม Charger มีให้เห็นดาษดื่น บางเจ้าตัดกันที่ความยาวของสายชาร์จด้วยซ้ำ แต่ที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือเรื่องความชำนาญในการติดตั้ง charger การเดินสาย หรือแม้แต่การคำนวณขนาดมิเตอร์ของบ้าน
ไม่ว่าจะ Solar Cell หรือ EV Charger นอกจากจุดขายเรื่องความสะดวกรวดเร็วในการติดตั้งจนถึงขั้นพร้อมใช้ จะมีขั้นตอนแฝงที่หลายเจ้าอาจไม่ได้พูดถึง นั่นคือการขออนุญาตและเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า อย่าง Solar Cell หากจะขายไฟส่วนเหลือใช้กลับเข้าระบบ ต้องมีมิเตอร์ขายไฟ และต้องเชื่อมต่อระบบอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัย EV Charger ก็เช่นเดียวกัน อย่างเครื่องประเภท Wall Box จะกินกระแสเท่ากับการใช้ไฟของบ้าน 1 หลัง ดังนั้นจะมีเรื่องของการเดินสายเมนใหม่ให้เหมาะสม แถมยังต้องมีอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วที่ได้มาตรฐาน
ที่ผ่านมาก็มีอุบัติเหตุหลายเคสให้เห็นกัน เพราะการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งการชาร์จ EV ไว้แล้วเกิดระเบิด เพราะไม่ได้คำนวณการใช้ไฟให้เหมาะสม จึงไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์รองรับให้ปลอดภัย หรือ ไฟย้อนกลับในระบบ Solar จนทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
ในส่วนของ EPC การออกแบบระบบไฟฟ้าควรเป็นแบบครบวงจร one stop service และความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะบางสถานที่ เช่น โรงพยาบาล ไฟฟ้าดับไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่ได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นก็ต้องคิดมาตั้งแต่การออกแบบระบบไฟฟ้านั่นเอง
ส่วนการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าเชิงป้องกัน เป็นความจำเป็นที่คนมักคาดไม่ถึง เหมือนรถยนต์ที่เราซื้อมาใช้ หากไม่ได้เข้าศูนย์ตามระยะหรือดูแลเชิงป้องกันเลย รอวันเสียขับไม่ได้จึงถามหาช่าง เมื่อนั้น ก็เกิดค่าใช้จ่ายและความเสียหายไปมากแล้ว
ความเป็นมืออาชีพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน นั่นคือจุดแข็งของเรา
เสริมด้วยข้อดีต่าง ๆ ที่ผู้เล่นในตลาดต่างมีคือ ความสะดวกและรวดเร็ว
จึงเป็นที่มาของจุดขาย “สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เป็นมืออาชีพ เข้าถึงง่าย เรียกใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง”
จุดขายที่เจ้าอื่นมี ... เรามี
จุดขายที่เจ้าอื่นอาจไม่มี ... เรามี
และนั่นคือ ‘จุดขายที่แข็งแกร่ง’ ของ KEN “ถามมืออาชีพ ถาม KEN”
ทีมมืออาชีพอย่าง KEN ต้องมี “คุณ”
4 บริการนี้ จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ KEN
การจะเป็น ‘พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร’ เราต้องตอบเมือง โจทย์มาอย่างไร เปลี่ยนขนาดไหน วิถีชีวิต การใช้พลังงาน เปลี่ยนทิศไปอย่างไร หน้าที่เรา... ต้องเสนอให้ครบ ตอบสนองให้ได้ นั่นคือศักดิ์และศรีของพวกเรา ส่วนผลพลอยได้คือรายได้ของ MEA
เมื่อตลาดโต เรามีหน้าที่โตให้ทันตลาด เราอาจต้องเหนื่อยกันมากขึ้นเพื่อตามลมที่เปลี่ยนทิศ เราอาจต้องศึกษาเพิ่มพูนความรู้ ฝึกฝนความชำนาญให้มากขึ้น แต่นั่นคือสิ่งที่เราสัญญากับผู้คนในเมืองมหานครไว้
ทีม KEN คือ ความกล้า ... ความกล้าของพวกเราที่จะฝ่ากรอบการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ เพราะมันคือทีมปฏิบัติการพิเศษที่จะส่งมอบบริการและคุณภาพที่ ‘ใช่’ ที่สุด เพื่อแหวกกระแสธารของการแข่งขันที่เชี่ยวกราก และพาตัวเองถึงฝั่งโดยไม่จมหายไป พร้อมกับผู้ใช้ไฟฟ้าอีก 4 ล้านกว่าชีวิต
ภารกิจของทีมปฏิบัติการ KEN ไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยทีมใดทีมหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง นั่นก็เพราะการจะส่งมอบสิ่งที่ ‘ใช่’ ที่สุดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องการ ‘การทำหน้าที่’ ของทุกคน ไม่ว่าจะในขอบเขตที่เคยทำมาแล้ว หรือไม่เคยก็ตาม แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เราทุกคนต้องพร้อมที่จะทำ
เพราะความเป็นจริงคือ ลูกค้า... เลือกได้
และเมื่อลูกค้าเลือกเรา... เราถึงจะอยู่ได้
หาก “คุณ” ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เราเริ่มได้จากการที่เรารู้... รู้ว่าเรามีธุรกิจที่พร้อม รู้ว่าเรามี KEN
เมื่อรู้... ในฐานะพนักงาน เราบอกต่อด้วยความมั่นใจว่าเราจะส่งมอบบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย ไปยังประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า
ในเมื่อวันนี้เราพร้อมแล้ว และเห็นภาพอนาคตของธุรกิจเกี่ยวเนื่องตรงกันแล้ว ความท้าทายต่อไปคือเราจะทำอย่างไร ให้ลูกค้าเห็นภาพเดียวกับพวกเรา... ซึ่ง “คุณ” คือกุญแจที่สำคัญ
-------------------------------------------
ชวนคุณเข้าใจประสบการณ์ใหม่ของธุรกิจ MEA ให้มากขึ้น กับ รองผู้ว่าการธุรกิจ และ โฆษก MEA
คลิก https://youtu.be/QYlh60xM8v8
งานแถลงข่าวเปิดตัว KEN by MEA
คลิก https://youtu.be/jAcEKVA44JM หรือ https://bit.ly/3ShlQ0f
---------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลจาก นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าธุรกิจและโฆษก MEA รวมทั้ง ทีมงาน KEN by MEA ฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า (ฝธค.)
และแหล่งอ้างอิง
- รายงานประจำปี 2564 (mea.or.th)
- ttb analytics ชี้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป เติบโตก้าวกระโดด | ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) (ttbbank.com)
- Solar Rooftop • ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ (kaohoon.com)
- ส่องตลาด EV ในประเทศไทย: ไปไกลได้แค่ไหน...อะไรฉุด อะไรดัน? - Marketeer Online
- ea5d2f1c4608232e07d3aa3d998e5135.pdf (ttcl.com)
- ติด Solar Rooftop เพื่อใช้ และขายไฟคืน - SCG Building Materials
- ติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน ใช้งบเท่าไหร่ ใช้ยี่ห้อไหนดี | thinkofliving.com
- ติดตั้งโซล่าเซลล์ 5kW 10kW ปัจจุบันราคาเท่าไหร่ 2021 ใช้อะไรได้บ้าง (energyfordummies.com)