ปลดล็อศักยภาพ MEA … อะไรจะเปลี่ยนไปบ้าง เมื่อแก้ ..บ. การไฟฟ้านครหลวง

 

เป็นข่าวใหญ่ที่เชื่อว่าพวกเราทุกคนสนใจ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 ที่บังคับใช้มานานกว่า 60 ปี หลายอย่างไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว แต่หัวใจสำคัญคือ การเปลี่ยนข้อกฎหมายหลายข้อ ที่ไม่อำนวยให้การดำเนินงานของ MEA ปรับตัวได้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงในอนาคต

 

ว่าแต่สาระของการแก้ พ.ร.บ. ครั้งนี้คืออะไร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับองค์กรของพวกเราบ้าง และพวกเราในฐานะพนักงาน MEA จะต้องปรับตัวอะไรบ้าง วันนี้ “กระแส” จะพามาเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน

 

 

..บ. ใหม่ มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง?

 

เป้าหมายสำคัญของการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวงครั้งนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้ไฟเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ มั่นคง เชื่อถือได้ ตลอดจนเป็นการขยายการให้บริการและสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้กับ MEA เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานที่ทวีความรุนแรงและคาดเดาได้ยาก

 

โดยมีสาระหลัก 7 ข้อ ดังนี้

 

      1. ให้อำนาจผลิตพลังงานไฟฟ้าได้

ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงว่า MEA เราจะไปตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าใหญ่ ๆ แต่เป็นการผลิต ณ จุดใช้งาน เช่น Solar Rooftop โรงไฟฟ้าขยะ Cogeneration (การผลิตไฟฟ้าแบบใช้พลังงานความร้อนร่วม) เป็นต้น เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปของอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นทั้งผู้ซื้อและขายพลังงานพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้ MEA มีความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการใช้พลังงานสะอาดของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ดีขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงนี้ จะส่งผลให้การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่น้อยลง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก็ลดลงตาม ซึ่งอาจทำให้ค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายลดลงตามไปด้วย และแน่นอนว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้จะเป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ระบบไฟฟ้ายังจะมั่นคงมากขึ้นอีกด้วย เพราะแหล่งผลิตอยู่ใกล้ผู้ใช้มากขึ้น และการสูญเสียพลังงานจากการเดินทางผ่านสายส่งระยะทางยาว ๆ ก็จะลดลงอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงการลงทุนที่คุ้มค่ามากขึ้น

 

      2. สามารถนำสินทรัพย์ที่มีไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้

 

สามารถนำเทคโนโลยี อุปกรณ์ ทรัพย์สิน หรือบุคลากรที่มีอยู่นำไปเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณ เช่น การทำแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) โครงข่ายใยแก้วนำแสง โครงการธุรกิจจัดการพลังงาน (ESCO)  สาย Fiber optic รวมไปถึงอาคารสถานที่ต่าง ๆ ของ MEA ให้สามารถนำมาใช้งานให้เต็มศักยภาพ

 

     3. ดำเนินการในต่างประเทศได้

 

เป็นการเปิดศักราชการให้ MEA บุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง เดิมเราก็มีการทำงานกับต่างประเทศอยู่บ้างแล้ว แต่ด้วยกฎหมายที่ระบุไว้ไม่ชัดเจน เรื่องพื้นที่ทำงานว่าต้องจำกัดอยู่ในเขตจังหวัดที่ให้บริการไหม จึงเป็นการร่วมงานกับต่างประเทศแค่ในลักษณะการจัดอบรม เป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างประเทศเท่านั้น

 

ถ้าแก้ พ.ร.บ. นี้ได้ จะทำให้มีความชัดเจน ทำให้ขอบเขตการดำเนินงานของ MEA สามารถขยายตลาด ให้บริการระบบผลิต ระบบจำหน่ายไปต่างประเทศได้

 

     4. พื้นที่ให้บริการที่ชัดเจนขึ้น

 

ด้วยตัวกฎหมายเดิมที่เขียนมากว่า 60 ปีแล้ว การเขียนชื่อพื้นที่ยังเป็นชื่ออย่าง “เขตพระนคร” การปรับนี้เป็นการทำให้ทันสมัย และชัดเจนว่าจังหวัดที่เราให้บริการมีจังหวัดอะไรบ้าง

 

แต่ไฮไลต์น่าจะอยู่ที่การเขียนครอบคลุมถึงเขตพื้นที่พิเศษ อย่าง EEC (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ร่าง พ.ร.บ. ใหม่ก็ยังเปิดช่องไว้ให้ MEA สามารถเข้าไปดำเนินการได้ด้วย เป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่จะสร้างการเติบโตให้กับ MEA

 

     5. ทลายความล่าช้า ให้ MEA รับผิดชอบงานตัวเอง เพิ่มความคล่องตัว

 

จากเดิมที่ พ.ร.บ. ระบุว่า หากเกิดความเสียหายจากการดำเนินงานของ MEA ต้องเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งทำให้เจ้าของที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียเวลา กว่าจะตกลงค่าเสียหาย หรือจัดการซ่อมแซมให้เรียบร้อย การให้ MEA สามารถจัดการรับผิดชอบความเสียหายได้เองเลย ก็จะทำให้เราทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น

 

     6. วงเงินการกู้ยืมที่สูงขึ้น เพิ่มโอกาสและอิสรภาพ

 

ด้วยตัวกฎหมายเขียนมากว่า 60 ปีแล้ว สมัยนั้นได้มีการกำหนดไว้ว่า หาก MEA จะลงทุนอะไรที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องกู้เงินเกิน 40 ล้าน จะต้องเข้า ครม. ซึ่งที่มาก็ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการให้โครงการใหญ่ ๆ ต้องได้รับอนุมัติก่อน แต่วันนี้ตัวเลข 40 ล้าน แทบจะเป็นมูลค่าการลงทุนพื้นฐาน กลายเป็นว่าไม่ว่าจะโครงการไหนก็ต้องเข้า ครม. เกือบทั้งหมด ทำให้กระบวนการล่าช้าไป

 

การปรับวงเงินนี้ เป็นการคงเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิม แต่ปรับให้ตัวเลขเหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเพิ่มความคล่องตัวให้ MEA มากขึ้น โครงการขนาดไม่ใหญ่ ก็สามารถตัดสินใจดำเนินการด้วยตัวเองได้

 

     7. เพิ่มอำนาจการเป็นตัวแทนจำหน่าย

ด้วย พ.ร.บ. เดิม MEA มีขอบเขตงานเพียงแค่การจัดจำหน่ายไฟฟ้า แต่ด้วยหน้าที่ที่ต้องดูแลบำรุงระบบไฟฟ้า เราคือคนที่รู้จัก เข้าใจ เชี่ยวชาญการใช้งานอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าต่าง ๆ มากที่สุด การแก้ไข พ.ร.บ. ครั้งนี้ จะขยายโอกาสให้เราสามารถทำธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ หรือกระทั่งให้การรับรองคุณภาพ ซึ่งแต่เดิมไม่เคยทำได้มาก่อน

 

 

เปลี่ยนแล้ว ประชาชนได้อะไร

 

เจตนารมณ์ของการแก้ พ.ร.บ. ครั้งนี้ ก็เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายที่ล้าสมัย ให้ MEA สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้เต็มศักยภาพ เพื่อสร้างระบบไฟฟ้าที่มั่นคงมากขึ้นไปอีก เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา

 

การที่ MEA สามารถดูแลการผลิต ณ จุดจำหน่าย อย่างเช่น solar rooftop ได้ ก็ทำให้ระบบไฟฟ้าที่ใกล้ผู้ใช้มากขึ้นมีความเสถียรขึ้น ลดการสูญเสียระหว่างทาง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดภาระต้นทุนที่ไม่จำเป็น

 

 

พวกเราต้องเตรียมพร้อมอย่างไร

 

พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวงฉบับใหม่ เป็นเหมือนกุญแจที่จะปลดล็อกให้องค์กรของเรา พร้อมรับมือกับอนาคตการใช้พลังงานที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วง รวดเร็ว แต่ที่สำคัญกว่าการแก้ พ.ร.บ. ก็คือ mindset หรือกรอบความคิดของพวกเราทุกคน ที่ต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ กุญแจปลดล็อกเปิดประตูแล้ว แต่หากคนข้างในไม่พร้อมก้าวเดินไป ก็คงไร้ประโยชน์

 

สาเหตุที่พวกเราต้องปรับตัว ไม่ใช่มาจากการที่กฎหมายเปลี่ยนไป ตรงกันข้าม เพราะสถานการณ์โลก เทคโนโลยี ความต้องการของผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปแล้วต่างหาก จึงทำให้ทุกอย่างต้องเปลี่ยน การปรับแก้กฎหมายเป็นหนึ่งการในการปรับตัวที่พวกเราต้องลุกขึ้นมา เปลี่ยนตัวเองให้ทัน ก่อนที่จะโดนบังคับให้ต้องเปลี่ยน

 

ความตื่นตัว ปรับตัวแบบเชิงรุกนี่เอง ที่จะเป็นหัวใจสำคัญต่อไปของคน MEA พวกเราทุกคนต้องเชื่อว่าทุกอย่างทำได้ เป็นไปได้ และเตรียมรับมือกับ Disruption ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานที่พวกเราคุ้นเคย เพราะธุรกิจจัดจำหน่ายไฟฟ้าแบบเดิม ๆ จะอยู่ไม่ได้อีกแล้วในโลกใบใหม่ที่เปลี่ยนไป

 

เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น เราได้เห็นเพื่อนรัฐวิสาหกิจหลายองค์กร ที่วันนี้กำลังลำบาก ต้องดิ้นรนปรับตัวในระบบนิเวศธุรกิจที่ไม่เหมือนกับสมัยที่พวกเขาเคยรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นการบินไทย ที่ขาดทุนหนักมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการเปิดเสรีการบิน จนพายุลูกสุดท้ายก็คือวิกฤตโควิด ที่ทำให้ต้องยื่นล้มละลายในที่สุด หรือ TOT กับ CAT ที่ต้องควบรวมกิจการเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT เมื่อต้นปี 2564 และยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียงไม่ถึง 4% ของเลขหมายทั้งประเทศ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะภายนอกเปลี่ยนแล้ว แต่ภายในปรับตัวไม่ทัน การเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศธุรกิจพลังงานก็กำลังใกล้เข้ามา พวกเราจะปรับตัวให้พร้อมก่อนมันมาถึง หรือจะรอให้คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นซัดโดนพวกเราก่อน แล้วค่อยหาทางหนี ทางเลือกขึ้นกับสิ่งที่พวกเราลงมือทำในปัจจุบัน

 

เมื่อ พ.ร.บ. ฉบับใหม่จะปลดล็อกโอกาสให้พวกเราแล้ว ก็อยู่ที่พวกเราที่จะคว้าโอกาส reskill + upskill ทำทักษะที่มีให้ดีกว่าเดิม + เพิ่มทักษะใหม่ให้ตัวเอง เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างชัด ๆ เช่น เดิมพวกเราอาจจะมีทักษะทางวิศวกรรมสูง แต่โอกาสใหม่ ๆ อาจทำให้เราต้องเจรจาต่อรองกับพันธมิตรมากขึ้น เราจะต่อยอดจากทักษะเดิมได้อย่างไร เราต้องมีความเข้าใจทางเศรษฐศาสตร์มากขึ้น เพราะบทบาทที่ขยายไปสู่การทำ platform ซื้อขาย เราจะเรียนรู้ หรือดึงดูดคนเก่ง ๆ หน้าใหม่ได้อย่างไร กระทั่งทักษะในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะ พ.ร.บ. ใหม่ จะปลดล็อกทรัพย์สิน อาคารสถานที่ ที่เราเหลือจากการใช้ประโยชน์

 

ขั้นตอนการแก้ พ.ร.บ. วันนี้เพิ่งไปถึงครึ่งทาง ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ระหว่างนี้พวกเราจะต้องเตรียมตัว ปรับตัว ดึงดูดพนักงานที่มีทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจในอนาคต หนึ่งในรูปธรรมของการปรับตัว ก็คือการเริ่มบริษัทลูกอย่าง MEAei ที่เหมือนเป็นการซ้อมใหญ่ ก่อนกระโดดเข้าไปทำธุรกิจต้นน้ำ อย่างการผลิตพลังงาน

 

การเปลี่ยนแปลงของวงการพลังงานนับวันจะยิ่งเข้มข้น การแก้ไข พ.ร.บ. ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะ “ปลดล็อก” สร้างโอกาส ขยายงาน เพิ่มความคล่องตัว ให้ MEA ของเราทันโลก

 

และปรับเปลี่ยนตัวเอง... ก่อนที่จะถูกแรงกดดันภายนอกบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลง

 

------------------

ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์ คุณภัทรา สุวรรณเดช ผู้ช่วยผู้ว่าการ

ในประเด็น "ปลดล็อกศักยภาพ MEA เมื่อแก้ พ.ร.บ. การไฟฟ้านครหลวง อะไรจะเปลี่ยนไปบ้าง?"

คลิก https://youtube.com/playlist?list=PL1aiIsw_y9f0XXcxODiUyj7VA54z7nwrp

 

------------------

 

อ้างอิง:

https://positioningmag.com/1314137

https://www.yozzo.com/insights/thailands-mobile-market-as-of-q2-2021/

 

------------------

อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ

24 ค่าไฟขึ้น! คน MEA ตอบเพื่อน ๆ อย่างไรได้บ้าง?

23 Energy for City Life, Energize Smart Living วิสัยทัศน์ภาพใหญ่สำเร็จได้ เมื่อทุกจุดพิกเซลพร้อม ‘เปลี่ยน’ บทเรียนจาก Disney ว่าทุกคนคือ Disney

22 โลกใหม่ Metaverse เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ไม่หยุด disrupt ตัวเอง

21 ระบบล่ม โดนแฮ็ก – ข้อมูลลูกค้า กับความรับผิดชอบใหม่ขององค์กร

20 น้องเทนนิส เหรียญทองแรกของไทย - เจ็บแล้วไม่จบ ล้มแล้วไม่เลิก ตราบใดที่ยังไม่หมดเวลา

19 ปักต้นกล้า MEAei ขยายกิ่งก้าน เพื่ออนาคตพลังงานที่สะอาดและฉลาด

18 ตำนานวอลเลย์บอลหญิงไทย – บทเรียน “Resilient” ล้มให้เจ็บน้อย ลุกให้ว่องไว

17 ฉีด – ไม่ฉีด กับการตัดสินใจที่ดีที่สุด

16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม

11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021

10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง

09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต

08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร

07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม

06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล

05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ

04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)

03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)

02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย

01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก