น้องเทนนิส เหรียญทองแรกของไทย - เจ็บแล้วไม่จบ ล้มแล้วไม่เลิก ตราบใดที่ยังไม่หมดเวลา

 

เรียกเสียงเฮให้คนทั้งประเทศ เมื่อ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คว้าเหรียญทองแรกให้กับทัพนักกีฬาไทย ในโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ที่ญี่ปุ่น เป็นเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของกีฬาเทควันโดไทย และเป็นเหรียญทองที่ชุบชูหัวใจคนไทย ในยามที่กำลังต่อสู้กับวิกฤต COVID-19 อย่างยากลำบากที่สุด

 

นอกจากเรียกเสียงเฮแล้ว ยังจวนเจียนจะชวนคนไทยหัวใจวาย เมื่อชัยชนะของเธอนั้น ได้มาจากคะแนนใน 7 วินาทีสุดท้าย เรียกว่าพลิกจากแพ้มาเป็นชนะ แบบบีบหัวใจสุด ๆ

 

ทุกคนเฝ้ามองความสำเร็จของเธอในวันนี้ด้วยความยินดี แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือ ความล้มเหลวที่เธอต้องผ่าน ประสบการณ์ที่เคยถูกปล้นชัยชนะในวินาทีสุดท้ายของการแข่งขัน แบบเดียวกับที่เธอเพิ่งทำกับคู่แข่ง จากความล้มเหลวในจุดต่ำสุด ที่นักกีฬาหลายคนก้าวผ่านไปไม่ได้ เธอทำอย่างไร ที่จะลุกขึ้นมา จนกลายมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกในวันนี้

 

“กระแส” จะพาคน MEA ไปชื่นชมความสำเร็จของน้องเทนนิส พร้อมกับเรียนรู้ว่าอะไรที่ทำให้เธอเจ็บแล้วไม่จบ ล้มแล้วไม่เลิก บทเรียนจากการฝึกซ้อม และอะไรอีกบ้าง ที่ทำให้เธอสู้ในทุกวินาที ตราบใดที่ยังไม่หมดเวลา

 

ดาวรุ่งไฟแรง ที่พ่ายแพ้อย่างน่าเจ็บใจ

 

น้องเทนนิสได้รับการยกย่องว่า เป็นนักเทควันโด “อัจฉริยะ” เป็นความหวังที่ใกล้เคียงที่สุดของทัพนักกีฬา ในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้ได้เสียที หลังจากที่ “โค้ชเช” ได้เข้ามายกระดับวงการ จากที่ไม่เคยมีชื่อบนเวทีโลก สู่การคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ แต่ในโอลิมปิก สูงสุดที่เราเคยไปถึง ก็เพียงแค่เหรียญเงินเท่านั้น

 

น้องเทนนิส ติดทีมชาติตั้งแต่อายุ 13 ปี ด้วยระบบ “คู่ซ้อม” ที่โค้ชเชวางระบบไว้ ให้รุ่นพี่เป็น “โค้ช” ให้รุ่นน้อง จากที่เธอเคยไล่เตะเพื่อนรุ่นเดียวกัน ด้วยพรสวรรค์อันโดดเด่น กลายเป็นลูกไล่ให้รุ่นพี่ ๆ เตะยับปากแตก เธอเป็นคู่ซ้อมให้กับ “เล็ก ชนาธิป ซ้อนขำ” เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกที่ลอนดอนเมื่อปี 2012 ทำให้เธอได้บ่มเพาะ ฝึกฝนจากประสบการณ์จริง จนพรสวรรค์ที่ติดตัวรวมเข้ากับฝีมือที่ขัดเกลา ในที่สุดเธอก็ได้เป็นตัวแทนทีมชาติลงแข่งโอลิมปิก ริโอ 2016 ที่วงการเทควันโดทั้งโลก จับตามองว่าเป็นดาวรุ่นที่น่าลุ้นที่สุด

 

และผลงานในสนามเธอก็ทำให้คนทั้งโลกตะลึงได้จริง ๆ ด้วยวัยเพียง 19 ปี เธอผ่านรอบแรก ๆ ด้วยการ “เอ้าต์คลาส” หรือ เหนือชั้น คู่แข่งแบบสบาย ๆ จนมาถึงการเจอกับเต็งหนึ่ง “คิม โซ-ฮุย” แฟนกีฬาหลายคนมองว่าเหมือนเป็นนัดชิงเหรียญทอง

 

น้องเทนนิสเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม และก่อนจบเกม 7 วินาที เหรียญทองอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว เธอกำลังจะชนะด้วยการนำอยู่ 4-2 แต่แค่ 7 วินาทีนี่แหละ ที่เทนนิสพลาดเสียสมาธิเพียงเสี้ยววินาที จึงโดน คิม โซ ฮุย ที่เก๋าเกมกว่า ประสบการณ์มากกว่า ดักเตะเข้าศีรษะ พลิกแซงเป็น 5-4 ก่อนที่จะปิดเกม น้องเทนนิส และคนไทยทั้งประเทศ ช็อกไปตาม ๆ กัน ด้วยไม่อยากจะเชื่อว่าจะแพ้ในเสี้ยววินาที จากเหรียญทองแค่เอื้อม น้องเทนนิสเหลือเพียงเหรียญทองแดงติดมือกลับบ้าน

 

มีนักกีฬาหลายคน ที่เจอกับความพ่ายแพ้กระทบจิตใจรุนแรงแบบนี้ แล้วกลับมาสู่ฟอร์มที่ดีของตัวเองไม่ได้อีกเลย และด้วยวัยเพียง 19 ปี พายุลูกนี้รุนแรงสำหรับน้องเทนนิสเหลือเกิน

 

น้องเทนนิส เมื่อครั้งพลาดท่า ได้เพียงเหรียญทองแดง จากโอลิมปิกเกมส์ ริโอ 2016

 

เจอกับร่างก๊อบปี้ของตัวเองใน 5 ปีถัดมา

 

ด้วยแผลใจจากการพ่ายแพ้สุดเจ็บปวดแบบนี้ นักกีฬาชั้นนำหลายคนกลับมายืนบนฟอร์มที่ดีที่สุดของตัวเองไม่ได้อีกเลย แต่ไม่ใช่กับน้องเทนนิส

 

เธอพลิกความเจ็บปวดเป็นพลัง แขวนเหรียญทองแดงที่ควรจะเป็นเหรียญทองบนรูปของแม่ที่เสียชีวิต แล้วทุ่มเทพลังกับการซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม ถ้าเธอแพ้เพราะประสบการณ์ รอบหน้าเธอก็จะกลับมาด้วยประสบการณ์ที่มากกว่าเดิม เธอทุ่มเทอย่างหนัก ผลการแข่งตั้งแต่ปี 2018 น้องเทนนิสไม่เคยแพ้ใครเลย ชนะรวดทุกรายการ จนขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลก ก่อนเข้าแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ที่ญี่ปุ่น จากสถานะดาวรุ่งม้ามืด เมื่อ 5 ปีก่อน มาเป็นเต็งหนึ่งในปีนี้

 

ด้วยความ “เก๋าเกม” ที่มากขึ้น เธอเข้ารอบจนมาถึงนัดชิงชนะเลิศ เจอกับอาเดรียน่า เซเรโซ่ อิเกลเซียส จากสเปน สาวน้อยวัยเพียง 17 ปี ที่ไล่ฟาดรุ่นใหญ่ตกรอบราบคาบ เรียกได้ว่าอาเดรียน่า ถอดแบบดาวรุ่งไฟแรง เหมือนน้องเทนนิสเมื่อ 5 ปีที่แล้วไม่มีผิด

 

การแข่งขันเป็นไปอย่างสูสี น้องเทนนิสออกนำในยกสุดท้าย 9-8 คะแนน แต่แล้วเมื่อเหลือ 30 วินาทีสุดท้าย ภาพเก่าในอดีตก็ย้อนกลับมาอีกครั้งเมื่ออาเดรียน่าพลิกแซงเป็น 10-9 เตรียมปล้นเหรียญทองไปจากน้องเทนนิสอีกครั้ง

 

ความพ่ายแพ้ จะมองเป็นบาดแผลหรือบทเรียน ขึ้นอยู่กับตัวเรา สำหรับเทนนิส อาจเรียกได้ว่าแผลจาก 5 ปีที่แล้ว ทำให้ 30 วินาทีสุดท้ายรอบนี้ เธอนิ่ง และไม่ร้อนรน ด้วยเชื่อในฝีมือตัวเอง ถ้า คิม โซ-ฮุย เคยแซงชนะเธอได้ เธอก็ต้องทำได้เหมือนกัน

 

และในที่สุด เมื่อเหลือ 7 วินาทีสุดท้าย ใกล้เคียงกับ 5 ปีที่แล้วที่เธอโดนแซง คราวนี้เป็นเทนนิส ที่หาช่อง หลอกจะต่อย ก่อนจะฟาดแข้งเข้าลำตัวอาเดรียน่า ได้สองแต้ม แซงเป็น 11-10 ใน 7 วินาทีสุดท้าย!

 

คราวนี้เป็นเทนนิสที่นิ่งพอจะป้องกันตัว เดินถอยปิดเกม จนได้ชัยชนะในที่สุด

 

น้ำตาขณะที่เธอกอดกับโค้ชเช คราวนี้เปลี่ยนจากน้ำตาที่เคยเจ็บปวดที่สุด เป็นน้ำตาแห่งความดีใจเป็นที่สุด

 

 

รุ่นพี่ “โค้ช” รุ่นน้อง เบื้องหลังความสำเร็จ แบบเดียวกับ MEA

 

หนึ่งในปัจจัยที่เป็นเบื้องหลังให้กับความสำเร็จของน้องเทนนิสในครั้งนี้ คงไม่เกินจริงที่จะกล่าวว่าระบบการฝึกซ้อมของโค้ชเช เป็นส่วนสำคัญ

 

นอกจากขึ้นชื่อเรื่องความโหดเฮี้ยบแล้ว การซ้อมที่โค้ชเชวางระบบไว้ คือการให้รุ่นพี่ เป็นคน “โค้ช” รุ่นน้องอีกทางด้วย ไม่ใช่ตัวโค้ชเชเท่านั้นที่เป็นคนฝึกสอน

 

วิธีการแบบนี้ ทำให้น้องเทนนิสได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของรุ่นพี่ ไม่ใช่แค่เรียนตามตำรา ซ้อมตามตาราง การเป็นลูกไล่ให้รุ่นพี่ที่เก๋ากว่าไล่อัด ทำให้รุ่นน้องเรียนรู้ที่จะต้องพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าตัวเองจะเคยแน่ เคยเก่งในรุ่นตัวเองมาแค่ไหน

 

วิธีฝึกเพื่อการพัฒนาแบบนี้ เป็นหลักการเดียวกันกับการบริหาร “ทุนมนุษย์” ของ MEA ซึ่ง MEA ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้แนวคิด 70: 20: 10 ตั้งแต่ปี 2557 เพราะแต่เดิมเคยเน้นการจัดอบรม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% แต่ยิ่งอบรม ยิ่งฝึกมาก ฟีดแบ็กที่ได้รับคือ “พนักงานเข้ารับการอบรมมากเกินไปจนไม่ได้ทำงาน” จึงต้องมาคิดกันใหม่ว่าต้นทุนที่ลงไปกับการจัดหลักสูตรฝึกอบรม มันคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด

 

นำมาสู่การพลิกหลักคิดใหม่ นำทฤษฎี 70: 20: 10 ซึ่งองค์กรชั้นนำของโลก เช่น Google, Standard Chartered, Nike, Coca-Cola, Dell, Oracle ก็ใช้ปฏิบัติอยู่ นั่นคือการที่ 70% เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เป็น On-the-job training หรือทำ project assignment  20% คือการเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ เช่น จากการโค้ช จากรุ่นพี่ การมีพี่เลี้ยง และอีก 10% เป็นการเรียนการสอนตามธรรมเนียมปกติ

 

นอกจากนี้ แนวคิด 70: 20: 10 นี้ MEA ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ก็สอดคล้องกับระบบการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Assessment Module : SE-AM) ที่ประกาศใช้ในปีที่แล้วด้วย ระบบ SE-AM นั้น จะมีตัวชี้วัดประเมินทั้ง 2 ส่วน คือผลการดำเนินงาน และ Core Business Enablers 8 ด้าน ซึ่งหนึ่งในนัน ก็คือด้านที่ 6 การบริหารทุนมนุษย์

 

ซึ่งเมื่อมีการมาถึงของ SE-AM พวกเราก็ยิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลากรตามแนวคิดนี้มากขึ้น จะเห็นได้จากการพัฒนานักบริหารและพนักงานระดับ 9-13 ทุกคน ต้องมีการจัดทำแผนพัฒนาส่วนบุคคล ตามรูปแบบ 70: 20: 10  หัวหน้างานจะมีการวางแผนการพัฒนาเพื่อปิด gap ให้กับพนักงาน ซึ่งอยู่ในรูปแบบของโมเดลนี้เช่นเดียวกัน และที่เห็นได้เป็นรูปธรรมน่าจะเป็นโครงการ On-the-job Training กับบุคลากรทางด้านช่าง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรแบบ (Non-Class) ให้มากยิ่งขึ้น ให้ช่างของเราได้ฝึกอบรมจากของจริง จากการทำงานจริง และได้เรียนรู้ โค้ชชิ่งจากประสบการณ์ของรุ่นพี่ ลองไปรับชมบรรยากาศของการอบรมช่างสายในรุ่นปีนี้ได้ที่รายการ “67 วันฉันจะเป็นช่างสายฯ EP.1: น้องใหม่ ไฟแรงเฟร่อ! รุ่นสู้ COVID-19” กันได้เลย คลิก (internet) https://youtu.be/HXexu6vqtoY  หรือ คลิก (intranet) https://bit.ly/2Vdc47y

 

การมีรุ่นพี่ มาโค้ชน้อง ไม่ใช่แค่เพียงน้องได้มีคนดูแลเท่านั้น แต่มันยังเป็นการจัดการองค์ความรู้ หรือที่เรียกว่า Knowledge management (KM) อีกด้วย ความรู้ที่สั่งสมจากประสบการณ์ของรุ่นพี่ หากไม่มีการจัดการ องค์ความรู้ก็จะหายไปกับตัวบุคคลที่ทยอยเกษียณกันออกไป MEA ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะบุคลากรของเรา ยิ่งรุ่นใกล้เกษียณ เปรียบเสมือนเพชรน้ำงาม ที่ผ่านการเจียระไนมาแล้วเกือบ 60 ปี องค์ความรู้ ประสบการณ์เหล่านี้ ไม่สามารถสร้างได้ หากไม่ผ่านกาลเวลา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจัดการ เพื่อส่งต่อให้รุ่นน้องได้ “เรียนลัด” จากวันเวลาของรุ่นพี่

 

การที่ “โค้ชเช” ได้วางระบบให้ดาวรุ่งอย่างน้องเทนนิส ได้ผ่านการเป็นคู่ซ้อมของรุ่นพี่ อดีตเหรียญเงินอย่าง เล็ก ชนาธิป ก็น่าจะเรียกได้ว่าประสบการณ์ที่ทำให้เธอนิ่งพอจะแซงคู่แข่งได้ใน 7 วินาทีสุดท้ายนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะส่งต่อมาจากรุ่นพี่ก็เป็นได้

 

วันนี้เป็น วันแห่งความสำเร็จ แต่แน่นอนว่า “ดาวรุ่ง” ดวงใหม่ ๆ ย่อมจะขึ้นมาท้าทายรุ่นเก่าอยู่เสมอ หากคน MEA จะเรียนรู้อะไรจากเหรียญทองของน้องเทนนิส เปรียบไปก็เหมือนความท้าทายทางธุรกิจพลังงาน ที่ทุกวันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ แต่ตราบใดที่เราพัฒนา “ทุนมนุษย์” ของเรา ให้เพิ่มศักยภาพไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด และไม่ยอมแพ้ตราบใดที่ไม่ถึง “วินาทีสุดท้าย”

 

...ชัยชนะย่อมเป็นไปได้เสมอ

 

----------

อ้างอิง :

https://www.facebook.com/jingjungfootball/posts/2850587428489822

https://youtu.be/vDSkK9iOA9I

https://www.matichon.co.th/tokyogames-2020/news_2849171

https://www.google.com/imgres?imgurl=https%3A%2F%2Fupload.wikimedia.org%2Fwikipedia%2Fcommons%2F5%2F5d%2FTaekwondo_at_the_2016_Summer_Olympics_%25E2%2580%2593_Women%2527s_49_kg_awarding_ceremony_7.jpg

 

----------

อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ

20 น้องเทนนิส เหรียญทองแรกของไทย - เจ็บแล้วไม่จบ ล้มแล้วไม่เลิก ตราบใดที่ยังไม่หมดเวลา

19 ปักต้นกล้า MEAei ขยายกิ่งก้าน เพื่ออนาคตพลังงานที่สะอาดและฉลาด

18 ตำนานวอลเลย์บอลหญิงไทย – บทเรียน “Resilient” ล้มให้เจ็บน้อย ลุกให้ว่องไว

17 ฉีด – ไม่ฉีด กับการตัดสินใจที่ดีที่สุด

16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม

11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021

10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง

09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต

08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร

07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม

06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล

05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ

04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)

03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)

02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย

01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก