COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม
- Details
- กระแสออนไลน์
- Hits: 2815
COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม
เป็นที่น่ากังวลกับการกลับมาระบาดอีกครั้งของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่พวกเราก็ต้องปรับตัวกับวิถีแบบ New Normal นี้กันให้ได้
MEA ห่วงใยสุขภาพของประชาชน เราจึงอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ไม่ต้องเดินทางมาที่ทำการของ MEA ก็สามารถรับบริการได้ เพราะ MEA มีช่องทางการทำธุรกรรมออนไลน์ที่ครอบคลุม เพื่อลดอัตราความเสี่ยงในการแพร่ระบาดแก่ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ นอกจากนี้ MEA ยังมีมาตรการลดค่าไฟฟ้า ตามมติ ครม. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตามนโยบายรัฐบาลด้วย
สำหรับการทำงานของพวกเราเอง MEA ก็มีมาตรการและแนวทางการปฏิบัติงานออกมาเป็นระยะ ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เป็นการป้องกันในแบบที่การทำงานของพวกเรายังดำเนินต่อไปได้ เพื่อขับเคลื่อนชีวิตคนเมืองมหานครอีกหลายล้านชีวิตไม่ให้หยุดชะงัก เช่น ห้ามจัดกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่เราก็มีระบบรองรับให้ประชุมออนไลน์ได้ งานสนาม งานอยู่เวร ให้จัดเป็นกองงานประจำ ไม่ให้คละกัน แต่ก็ยังคงความปลอดภัยด้วยการทำ KYT แบบยึดหลัก D-M-H-T-T เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการลดความเสี่ยงในการทำงานของ MEA)
แต่นอกจากบทบาทหน้าที่ของการเป็นพนักงาน MEA แล้ว COVID-19 ยังมาท้าทายอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของเราทุกคน นั่นคือบทบาทที่จะรับผิดชอบต่อส่วนรวม
“กระแส” ฉบับนี้ จะพาคน MEA ทุกคนมาทำความเข้าใจว่าทำไมการระบาดของ COVID-19 จึงเกี่ยวกับความจำเป็นในการรับผิดชอบต่อคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องการไม่ปกปิดข้อมูล
1. ปกปิดคนเดียว เดือดร้อนหลายร้อยหลายพัน
แน่นอนว่าแต่ละคนมีสิทธิในชีวิตของตัวเองที่จะไปไหนมาไหน แต่การระบาดของ COVID-19 นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกคนในสังคมเพื่อช่วยกันยุติ โดยข้อสำคัญก็คือการทราบประวัติการเดินทาง เพื่อหมอจะได้ทราบเส้นทางการระบาดของโรคเพื่อที่จะจัดการให้ถูกที่ และรับรู้ว่าคนไข้ที่หมอกำลังรักษาอยู่มีความเสี่ยงมากแค่ไหน
คนไข้เพียงหนึ่งคน ที่ปกปิดประวัติว่าเคยไปในพื้นที่เสี่ยงมานั้น ไม่ใช่เดือดร้อนแค่ตัวเอง แต่ยังทำให้คุณหมอที่ตรวจ พยาบาลเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ต้องกลายเป็นผู้ที่อยู่ในความเสี่ยงไปด้วย เพราะเมื่อ “ไม่รู้” ว่าเสี่ยง ก็ไม่ได้เตรียมมาตรการป้องกันที่เพียงพอ ลองคิดดูง่าย ๆ ว่า 14 วันที่หมอและพยาบาลเหล่านั้นต้องกักตัว มันหมายถึงผู้ป่วยอีกกี่คนที่จะไม่ได้รับการรักษา เพื่อนหมออีกกี่คนที่ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อชดเชยกำลังคนที่หายไป
2. ฉันแข็งแรงดี ไม่ติดหรอก
ความอันตรายที่สุดของ COVID-19 จนป่วนโลกให้วุ่นวายกันขนาดนี้ ไม่ใช่เพราะความสาหัสของโรคที่เป็นแล้วเสียชีวิตแน่ ๆ แต่เป็นความ “ซุ่มเก่ง” ของโรค ที่คนติดเชื้อแล้วกว่าจะมีอาการก็ปาเข้าไปหลายวัน หรือบางคนไม่มีอาการเลยด้วยซ้ำ
กว่า 70% ของผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 นั้น ไม่มีอาการอะไรให้เห็นเลย และยังมีระยะฟักตัวด้วย ซึ่งหมายถึงช่วงที่ร่างกายติดเชื้อแล้วพร้อมแพร่เชื้อให้คนอื่นแต่เรายังไม่มีอาการ ยาวถึง 2-14 วัน นั่นหมายถึงแม้เราจะแข็งแรงดี ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่แพร่เชื้อ
เพราะฉะนั้น การที่คนคนหนึ่งไปพื้นที่เสี่ยง แล้วคิดว่าไม่ต้องตรวจหรอก หรือตรวจก็ไม่ต้องบอกหมอหรอกว่าไปไหนมาบ้าง คิดเพียงว่าเราไม่เป็นอะไรนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
3. “หมอชนะ” ให้หมอชนะโรคได้ โดยไม่รู้เลยว่าเราคือใคร
ความกังวลว่า Timeline ส่วนตัว จะถูกคนอื่นมาดูนั้น แท้จริงแล้วประวัติการเจ็บป่วยถือเป็นความลับที่แพทย์ต้องห้ามเปิดเผยอยู่แล้ว ส่วนที่เปิดเผยจะเป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค ไม่ได้เปิดเผยว่าเราเป็นใครชื่ออะไรอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรต้องกลัว
การรณรงค์ของภาครัฐที่ชวนทุกคนโหลดแอปฯ “หมอชนะ” นั้น ในตัวแอปฯ เอง ก็จะเก็บข้อมูลเฉพาะที่จำเป็น เช่น สถานที่และเวลา แต่ชื่อของเรา หมายเลขโทรศัพท์ของเรา ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของคนอื่นในเครื่องเรา อีเมล หรืออะไรอื่น ๆ หมอไม่ได้รับรู้เลย สิ่งที่หมอรับรู้คือจะเห็นเราเป็นเพียงรหัสเพื่อส่งข้อความเตือนว่าเรามีความเสี่ยงเท่านั้น เช่น คุณ Aszwg83baFd ได้ไปในพื้นที่เสี่ยง ที่มีคุณ IelOejDE93 ซึ่งติดเชื้อเมื่อ 4 วันที่แล้ว ขอให้คุณ Aszwg83baFd ไปรับการตรวจ (คลิกดาวน์โหลดแอปฯ “หมอชนะ”)
และเมื่อเราเองยังกังวลว่าข้อมูลของเราจะถูกเปิดเผย คนอื่นก็กังวลเช่นกัน เราจึงควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา “คิดเผื่อ” กันสักนิด เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ลองนึกดูง่าย ๆ สมมติว่าเราได้รับข่าวมาว่ามีพนักงาน MEA ติด COVID-19 หากเราจะแชร์ข้อมูลนี้ต่อ ก่อนอื่นเลย ต้องเช็กที่มาให้ดีก่อนว่าถูกต้องและน่าเชื่อถือหรือไม่ อย่าคิดเพียงแค่ว่าส่งต่อเร็วที่สุดคือดีที่สุด เพราะนั่นอาจนำมาซึ่งความเสียหายที่สุดก็ได้ มิหนำซ้ำ การแชร์ข้อมูลที่มีชื่อบุคคลและหน่วยงาน อาจเข้าข่ายละเมิด พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อีกด้วย
การระบาดของ COVID-19 สร้างความลำบากให้ทุกคน หันมองไปทางไหนก็เหนื่อยเพิ่มขึ้นและลำบากเพิ่มขึ้นกันทั้งนั้น แต่มันก็เป็นเหตุการณ์ที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า เราทุกคนต่างมีบทบาทร่วมกันในสังคมที่จะดูแลชีวิตกันและกัน หากเราปรับมุมมองใหม่ว่ามันเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำหน้าที่ดูแลคนอื่น ๆ เหมือนที่ทุกวันเราดูแลระบบไฟฟ้าให้ประชาชนได้ใช้งาน มันก็อาจสร้างความภูมิใจเล็ก ๆ ให้เราก็ได้
ดูแลตัวเอง คิดถึงส่วนรวม คือสิ่งที่โลกใบนี้กำลังต้องการเพื่อฟื้นฟูทุกชีวิต
เรามีหน้าที่ดูแลประชาชน
และนั่นหมายรวมถึงทุกมิติในการดูแล
----------
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30542
https://www.youtube.com/watch?v=lchEVmOq2_Q&t=217s
https://www.dga.or.th/th/profile/2176/
----------
อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ
16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า
15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง
14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้
13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”
12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม
11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021
10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง
09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต
08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร
07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม
06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล
05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ
04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)
03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)
02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย
01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก
ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021
- Details
- กระแสออนไลน์
- Hits: 2254
ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021
ปี 2020 เป็นปีที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายกว่าปกติ หลายคนต้องลำบาก ต้องปรับตัว โดยเฉพาะ COVID-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนโลกไปอย่างไม่มีทางเหมือนเดิม
แต่มนุษย์ทั้งโลกก็ได้ร่วมกันพิสูจน์อีกครั้ง ว่าพลังแหล่งความสร้างสรรค์ ตั้งใจพัฒนา เพื่อสร้าง “นวัตกรรมใหม่ ๆ” นั้น ได้พามนุษย์อยู่รอด ก้าวผ่านอุปสรรคมาตั้งแต่เราประดิษฐ์วงล้อ หลอดไฟ เครื่องจักร จนวันนี้ วัคซีน COVID-19 ก็กำลังสร้างความหวังให้เราอีกครั้ง
กระแสฉบับนี้จะพาพนักงาน MEA ทุกคนมาทบทวนปีสุดโหดนี้ ผ่าน 100 สุดยอดนวัตกรรมแห่งปี 2020 จากนิตยสาร TIME และถอดรหัสไปพร้อม ๆ กันว่านวัตกรรมสุดล้ำเหล่านี้เกิดมาจากวิธีคิดแบบไหน และเราจะเตรียมตัวเราให้พร้อมเพื่อรับความท้าทายในอนาคตที่กำลังจะมาถึงได้อย่างไรบ้าง
1. COVID-19: ยิ่งวิกฤต ยิ่งเค้นพลังสร้างสรรค์
COVID-19 เป็นหนึ่งในภัยคุกคามมนุษยชาติครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ ล้วนเกิดจากการเผชิญปัญหาที่หนักหน่วงทั้งนั้น ความกันดารคือสินทรัพย์ ที่บีบให้เราออกไปหาโอกาสใหม่ ๆ ข้อจำกัดคือขุมทรัพย์แห่งความสร้างสรรค์ มหาวิกฤตครั้งนี้จึงเป็นโอกาสในการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง
mRNA นวัตกรรมใหม่ที่คงไม่ได้แจ้งเกิด หากไม่มี COVID-19
นี่คือสุดยอดนวัตกรรมที่คนทั้งโลกเฝ้ารอที่สุด หากพูดชื่อ mRNA หรือ Messenger Ribonucleic Acid หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดว่ามันคือกุญแจเบื้องหลังวัคซีน COVID-19 ที่กำลังเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้เราทุกคน รับรองว่าต้องร้องอ๋อ
จากเดิมที่การผลิตวัคซีนนั้น ต้องเพาะตัวเชื้อโรคที่อ่อนแอขึ้นมา หรือสร้างชิ้นส่วนของเชื้อโรคนั้นขึ้นมาใหม่แล้วฉีดเข้าร่างกายเรา เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาสู้ได้แบบไม่ต้องป่วยรุนแรงมาก ซึ่งกระบวนการนี้ยาก และกินเวลามาก แต่เทคโนโลยีใหม่อย่าง mRNA นั้น คือการถอดรหัส DNA ของไวรัสโคโรนาแล้วเอารหัสนั้นฉีดเข้าร่างกายเรา เพื่อให้ร่างกายเราสร้างชิ้นส่วนของไวรัสนี้ขึ้นได้เอง และกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้
mRNA เป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่หากไม่มีการระบาดของ COVID-19 การใช้งานของมันก็ยังจำกัดอยู่ในวงแคบมาก ๆ แต่พอมีเหตุเกิดขึ้น เทคโนโลยีนี้ก็กลายเป็นพระเอกที่ทำให้เราได้มีวัคซีนในเวลาไม่ถึงปี เมื่อเทียบกับเวลาปกติที่อาจะต้องรอถึง 5 ปี
New Normal ชีวิตออนไลน์ จากไม่คุ้นเคย กลายเป็นกลมกลืน
ก่อนจะมี COVID-19 หลายคนก็พูดถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามายกระดับชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว เช่น การประชุมแทนที่จะฝ่ารถติดไปเจอกัน ก็ผ่าน VDO conference หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซื้อของ ทำธุรกรรมธนาคาร ฯลฯ
แต่ COVID-19 ก็ได้เร่งความเร็วของการปรับชีวิตเข้าสู่โลกดิจิทัลแบบไม่มีใครคาดถึง เพราะเมื่อมีข้อจำกัดในการเดินทาง พอได้ลองสั่งอาหารมาส่งผ่านแอปฯ หรือกระทั่งซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตก็พบว่าไม่ได้ยากขนาดนั้น เมื่อไปออฟฟิศไม่ได้ จากที่ไม่คุ้นเคยกับการประชุมออนไลน์ ตอนนี้คำว่า “Zoom” กลายเป็นวลีที่คนเรียกแทนการประชุมออนไลน์ไปแล้ว
จริง ๆ แล้ว บริษัท Zoom ก่อตั้งมานานกว่า 10 ปี และก็ซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ VDO conference ราบรื่น สะดวกกับผู้ใช้อย่างตั้งใจมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามกลับครองใจผู้ใช้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่เป็นที่รู้จักไปทั้งโลก แต่โอกาสจะเป็นของคนที่พร้อมแล้วเท่านั้น เมื่อ COVID-19 ล็อกคนทั้งโลกไว้ภายในบ้าน แต่การงานต้องเดินต่อ ผลิตภัณฑ์ที่ดีของ Zoom ก็พร้อมพุ่งทะยานสู่หน้าจอคนทั้งโลก จากผู้ใช้ระดับ 10 ล้านคนทั่วโลก ในปี 2019 กลายเป็นมากกวา 300 ล้านคน ในเดือนเมษายนของปีนี้
2. ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม: เทรนด์สำคัญระดับโลก เพราะเรามีโลกแค่ใบเดียว
แม้จะมี COVID-19 เข้ามา disrupt โลกให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ปัญหาสำคัญที่โลกยังคงเผชิญอยู่ และยิ่งท้าทายขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะยิ่งส่งผลอันตรายรุนแรงกับคนทั้งโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ
100 สุดยอดนวัตกรรมของนิตยสาร TIME จึงมีนวัตกรรมหลายชิ้นที่มุ่งเป้าแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เราอยู่ร่วมกับโลกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแต่ละนวัตกรรมล้วนมุ่งเป้าชนกับความท้าทายข้อใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น
Impossible meat เนื้อที่ไม่ได้จากสัตว์
เนื้อสัตว์แน่นอนก็ต้องมาจากสัตว์ แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือการเลี้ยงสัตว์นั้นเป็นที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อนถึงกว่า ¼
ถ้าให้แก้ปัญหานี้ พวกเราก็คงคิดถึงการรณรงค์ช่วยกันลดการบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อโลกของเรา แต่ปัญหาก็คือเนื้อมันอร่อยน่ะสิ ยากเหลือเกินที่มนุษย์เราจะทำสิ่งที่ยากเพื่อคนอื่นโดยแลกกับความลำบากของตัวเอง
เช่นนั้นแล้ว หลายบริษัททั่วโลกจึงกำลังทุ่มสรรพกำลังเพื่อสร้าง Meat Substitute หรือสิ่งทดแทนเนื้อที่ออกมาจากห้องแล็บหรือใช้วัตถุดิบจากพืช ซึ่งตอนนี้เริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีวางขายตามร้านอาหารชื่อดังบ้างแล้ว หลายเจ้าโฆษณาถึงความอร่อยของเนื้อจากห้องแล็บนี้ว่าฉ่ำ หอม เทียบเท่าเนื้อจากสัตว์จริง ๆ เลยทีเดียว
เครื่องบินไม่ใช่น้ำมัน
นอกจากการผลิตอาหารแล้ว ก๊าซเรือนกระจกก็มีที่มาที่สำคัญจากการเดินทาง โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมการบิน
ZeroAvia’s ได้เริ่มทำการสร้างต้นแบบของเครื่องบินที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ซึ่งใช้พลังงานจาก Hydrogen และใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้ทำการทดลองบินจริงแล้วในประเทศอังกฤษ และผู้บริหารเชื่อว่าจะสามารถมีเครื่องบินมลพิษเป็นศูนย์ซึ่งบินได้ถึงระยะทาง 500 ไมล์ ภายใน 5 ปี
โทรศัพท์ Smart Phone ที่ไม่ตกรุ่นอีกต่อไป
ทุกปี มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นกว่า 50 ล้านตัน นอกจากจะเป็นปัญหาทับถมกินที่บ่อขยะแล้ว ยังสร้างมลพิษรั่วไหลอันตรายต่อผู้คน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา (ไทยเราก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้)
FairPhone บริษัทจากเนเธอร์แลนด์ ได้พัฒนาโทรศัพท์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแนวคิดสำคัญคือ “การเป็นมิตรกับการซ่อม” โดยสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ เปลี่ยนจอ อัปเกรดกล้อง จากเดิมที่อะไรเสียส่วนเดียวก็ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งเครื่อง และยังผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิลและใช้แร่ธาตุในแผงวงจรจากเหมืองที่ไม่สนับสนุนสงครามอีกด้วย
3. คิดแบบไหน ให้ได้ “นวัตกรรม”
ของไม่ใหม่ ในที่ใหม่
หลายครั้งนวัตกรรมใหม่อาจเกิดจากการนำเทคโนโลยีที่ไม่ใหม่ ที่มีอยู่แล้ว ที่เคยใช้งานในแบบหนึ่ง มาใช้ในพื้นที่ใหม่ หรือการปรับเทคโนโลยีเดียวกันมาใช้ในแบบใหม่ เช่น mRNA ที่เคยใช้ในการตัดต่อพันธุกรรม แต่เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการผลิตวัคซีน เราจึงได้เห็นการผลิตวัคซีนที่เร็วเป็นประวัติศาสตร์ พาโลกเราออกจากวิกฤตในที่สุด
คิดไกลไว้ก่อน แม้วันนี้อาจยังดูไกลเกินไป
ในวันที่ Zoom มุ่งมั่นพัฒนาโปรแกรมสำหรับการประชุมออนไลน์ หลายคนก็อาจจะปรามาสว่า การประชุมออนไลน์จะมาแทนที่การเจอหน้ากันได้อย่างไร แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาถอดใจ จนในที่สุด COVID-19 ก็มาสร้างโอกาสให้พวกเขา และพวกเขาก็เป็นผู้ชนะในที่สุด การฝันไกลถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ แม้หลายคนจะไม่เห็นความสำคัญ ความอดทนพัฒนาตลอด 10 ปี เพื่อสร้างบริการที่ดีที่สุด ก็ส่งผลให้เขาเป็นคนที่พร้อมที่สุด ในวันที่โลกต้องการ
ท้าชนเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุด ดีกว่าเก็บเบี้ยบ้ายรายทาง
ในความท้าทายของปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้สร้างนวัตกรรมระดับโลกไม่มัวเสียเวลากับการรณรงค์ปลูกต้นไม้ หรือเก็บขยะ แต่เชื่อในการท้าชนกับเป้าหมายที่ใหญ่โตอย่างการเปลี่ยนแปลงเนื้อที่เรากิน เปลี่ยนเครื่องบินให้ไม่ปล่อยมลพิษ
เพราะผลงานจะยิ่งใหญ่ได้ ก็ต่อเมื่อเป้าหมายยิ่งใหญ่เท่านั้น
จากตัวอย่างของนวัตกรรมระดับโลกที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร TIME แม้เราในฐานะคน MEA อาจจะไม่ได้ต้องไปคิดค้นอะไรแข่งกับเขา แต่ “หลักคิด” ในการสร้างนวัตกรรมขึ้นมา น่าจะสามารถปรับใช้ได้ในทุกระดับ
เพราะเมื่อถอดรหัสความเป็นนวัตกรรม ในทุกของสิ่งประดิษฐ์ออกมา จะพบว่าแกนกลางมันมีสิ่งเดียว ก็คือการ แก้ปัญหาเดิม ด้วยวิธีใหม่ ให้ได้ผลดีกว่าเดิมด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิม
เราจะจดมิเตอร์ไฟให้ครบทุกบ้าน ด้วยเวลาที่น้อยลง ต้นทุนที่ถูกลงอย่างไร?
เราจะใช้เวลาน้อยลงในการซ่อมสายไฟที่เสียได้อย่างไร?
เราจะตรวจสอบระบบส่งไฟให้ปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่น้อยลงได้อย่างไร?
ความท้าทายมากมายที่เป็นเป้าหมายในการทำงานของ MEA นอกจากการทำงานหนักแล้ว ยังต้องทำงานอย่างชาญฉลาด สร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนเกม สร้างผลลัพธ์ให้พุ่งทะยานอย่างคาดไม่ถึง
แล้วพวกเราคน MEA พร้อมจะสร้างนวัตกรรมเพื่อพาองค์กรเราไปถึงที่ที่เราคาดไม่ถึงหรือยัง
InnoTank คลิก
แผนแม่บทการบริหารจัดการนวัตกรรมและคู่มือการบริหารจัดการนวัตกรรม คลิก
---------
ข้อมูลประกอบการเขียน:
https://positioningmag.com/1270996
https://www.businessofapps.com/data/zoom-statistics/
https://time.com/collection/best-inventions-2020/
https://www.youtube.com/watch?v=-92HQA0GcI8
https://images.app.goo.gl/6m9Wce9h27x74Cxu6
------------
อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ
14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้
13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”
12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม
11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021
10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง
09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต
08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร
07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม
06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล
05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ
04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)
03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)
02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย
01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก
โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง
- Details
- กระแสออนไลน์
- Hits: 2340
โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง
ในที่สุดเราก็ได้รู้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องขอแสดงความยินดีกับคุณโจ ไบเดน ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา
สุนทรพจน์หลังจากทราบผลการเลือกตั้งของไบเดนจับใจคนอเมริกันหลายล้าน รวมทั้งอีกหลายล้านคนทั่วโลก เพราะสะท้อนสภาพความเป็นไปในสังคมเขาได้อย่างดี รวมถึงเป็นสุนทรพจน์ที่มีประเด็นน่าสนใจที่ตกผลึกเป็นบทเรียนในการทำงานของพวกเราชาว MEA ได้
เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอได้ยินวลีเด็ดต่าง ๆ จากสุนทรพจน์ของ โจ ไบเดน มาบ้าง ซึ่งมีหลายประโยคเลยทีเดียวที่เรียกได้ว่ากระชากใจและท้าทายความคิดใครหลาย ๆ คน รวมถึงทีมงานกระแสด้วย
แต่กระแสฉบับนี้ จะขอหยิบยกข้อความจากสุนทรพจน์ของ โจ ไบเดน ในส่วนที่สะท้อนการทำงานของพวกเรา เพื่อเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
-------
“เพื่อนพี่น้องชาวอเมริกันที่รัก วันนี้ประชาชนได้ส่งเสียงแล้ว พวกเขาได้มอบชัยชนะที่ใสสะอาดให้พวกเรา ชัยชนะของพวกเราเหล่าประชาชน
พวกเราชนะด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ 74 ล้านเสียง ผมน้อมรับความเชื่อมั่น และความไว้วางใจที่พวกท่านมีในตัวผม
ผมขอให้คำมั่นว่าจะเป็นประธานาธิบดีที่มุ่งหลอมรวม ไม่ใช่แบ่งแยก
ประธานาธิบดีที่ไม่เห็นรัฐสีแดง รัฐสีน้ำเงิน แต่เห็นเพียงสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีที่ทำงานอย่างสุดหัวใจเพื่อตอบสนองความมั่นใจของประชาชนทุกคน
เป็นเกียรติของชีวิตผมที่คนหลายล้านได้โหวตเพื่อวิสัยทัศน์นี้
และตอนนี้ การลงมือทำเพื่อให้วิสัยทัศน์เป็นจริง จะเป็นภารกิจของพวกเรา
และเพื่อนพี่น้องที่โหวตให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ผมเข้าใจความผิดหวังของท่านคืนนี้ ผมก็แพ้การเลือกตั้งมาบ้าง
แต่ตอนนี้ มาให้โอกาสกันและกัน ได้เวลาวางคำเสียดสีลง
ลดอุณหภูมิระหว่างกัน
เพื่อกลับมามองเห็นกันอีกครั้ง กลับมารับฟังกันอีกครั้ง
เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เราต้องหยุดเห็นคนเห็นต่างเป็นศัตรู
เราไม่ใช่ศัตรู เราคือคนอเมริกัน
ผมเชื่อเหลือเกินว่าประชาชนอเมริกาได้เรียกร้องให้เราดึงพลังแห่งความดีงาม แห่งความยุติธรรม พลังแห่งวิทยาศาสตร์ และพลังแห่งความหวังของผู้คน เพื่อต่อสู้ในสมรภูมิแห่งยุคสมัยของเรา
สมรภูมิของไวรัส
สมรภูมิแห่งการสร้างความรุ่งเรือง
สมรภูมิในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้ครอบครัวของคุณ
สมรภูมิแห่งการสร้างความเสมอภาคและถอนรากการเหยียดผิว
สมรภูมิในการปกป้องสิ่งแวดล้อม
สมรภูมิฟื้นฟูความดีงาม ปกป้องประชาธิปไตย และสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับทุกคนในสังคม
งานของพวกเราเริ่มต้นจากการจัดการกับโควิด-19 ควบคุมให้ได้
เราไม่สามารถซ่อมแซมเศรษฐกิจ ฟื้นคืนช่วงเวลาดี ๆ ในชีวิตที่ได้กอดลูกหลานของเรา ยินดีกับการแต่งงานของเพื่อน ยินดีกับลูกหลานของเราที่สำเร็จการศึกษา ช่วงเวลาเหล่านั้นจะไร้ความหมาย หากเราจัดการกับไวรัสไม่ได้
และผมจะไม่ละความพยายามจนกว่าการระบาดนี้จะยุติ
ผมลงสมัครในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครต แต่ผมจะเป็นประธานาธิบดีของคนอเมริกา ผมจะทำงานอย่างหนักเพื่อผู้คนที่ไม่ได้โหวตเลือกผม เฉกเช่นเดียวกันกับคนที่เลือก
มาร่วมกันยุติยุคแห่งการกล่าวร้ายกันในอเมริกา ให้มันยุติตรงนี้ ตอนนี้
การปฏิเสธที่จะร่วมมือกันระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ไม่ใช่เพราะเหตุผลลี้ลับเหนือการควบคุมของเรา
มันเป็นเพียงการตัดสินใจของเรา และหากเราเคยเลือกจะไม่ร่วมมือกัน วันนี้เราก็เลือกจะเปลี่ยนมันได้
ผมเชื่อว่านี้เป็นคำเรียกร้องจากประชาชนที่ต้องการให้ทุกพรรคร่วมมือกัน
และนั่นจะเป็นทางเลือกของผม ผมหวังว่าผู้แทนในสภา ไม่ว่าจากพรรคใดจะเลือกทางเดียวกับผม
ผมเชื่อตลอดมาว่าเรานิยามประเทศนี้ได้ด้วยคำหนึ่งคำ นั่นคือ ความเป็นไปได้
ทุกคนในอเมริกา ควรได้รับโอกาสให้เติบโตเท่าที่ความฝันและความสามารถของเขาจะพาไปได้
ผมเชื่อในความเป็นไปได้ของประเทศนี้
พวกเรามองไปยังอนาคต
อนาคตของอเมริกาที่เสรีและเท่าเทียม
อนาคตของอเมริกาที่สร้างงานที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี
อนาคตของอเมริกาที่รักษาความป่วยไข้
อนาคตของอเมริกาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
อนาคตของอเมริกาที่ไม่เคยยอมแพ้
นี่คือประเทศที่ยิ่งใหญ่ และพวกเราคือผู้คนดีงาม
นี่คืออเมริกา
และไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้าพวกเราทำมันด้วยกัน”
Credit ภาพ : Gage Skidmore from Surprise, AZ, United States of America, CC BY-SA 2.0 <https://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0>, via Wikimedia Commons
จาก USA ถึง MEA เราเรียนรู้อะไรจากไบเดน
หากชัยชนะของไบเดนจะบอกอะไรเราได้สักอย่าง ก็น่าจะเป็นชัยชนะที่สวยงามที่สุดต้องเป็นชัยชนะที่ทุกคนชนะร่วมกัน ไม่ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงไหน ชัยชนะที่มุ่งเฉลิมฉลองจุดที่เรามีร่วมกัน และอดทน ยอมรับ เคารพในจุดที่เรามีต่างกัน เพราะในความต่าง เรามีเป้าหมายเดียว
ไบเดนกล่าวถึงการต่อสู้ในสมรภูมิแห่งยุคสมัยของเรา เพื่อชี้ให้เห็นว่าเรามีเป้าใหญ่ที่ต้องสู้ร่วมกัน ทั้งการยุติโรคระบาด การสร้างเศรษฐกิจ การสร้างความเสมอภาค และยุติการเหยียดผิว เพื่อปักธงเป้าหมายร่วมกันให้กับประชาชนทุกคนว่าเราอยู่ในสมรภูมินี้ร่วมกันและมีเป้าหมายที่ต้องสู้ด้วยกัน ไม่ใช่สู้กันเอง
ย้อนภาพกลับมาดูที่องค์กรของเรา หลายครั้งในการทำงานที่เราเห็นต่างกับฝ่ายอื่น ๆ แผนกอื่น ๆ แต่ต้องไม่ลืมว่า เราก็ยังอยู่ภายใต้เป้าหมายเดียวกันของ MEA เพื่อสร้างระบบไฟฟ้าที่ดีที่สุดให้ผู้ใช้ไฟฟ้า นั้นคือสมรภูมิที่เราต้องสู้ ไม่ใช่หันหลังมาทะเลาะกันเอง
หากจะมีคำไหนที่เราเรียนรู้จากสุนทรพจน์ของไบเดน ก็น่าจะเป็นการมุ่งแสวงจุดร่วมมากกว่าจุดต่าง การบรรลุ KPI ของฝ่ายหนึ่ง อาจจะเป็นงานงอก งานเพิ่ม ของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่นั้นก็เป็นไปเพื่อเป้าหมายที่เราต้องมีร่วมกัน ก็คือการบรรลุ KPI ของทั้งองค์กร และทำวิสัยทัศน์องค์กรให้เป็นจริงและยั่งยืน
ไบเดนยังตอกย้ำอีกว่า ความต่างทางการเมือง อุดมการณ์ หรืออะไรก็ตามที่เคยขวางกั้นความร่วมมือ เป็นการตัดสินใจของพวกเรา ไม่ใช่เหตุผลเหนือธรรมชาติอะไร และหากเราเคยตัดสินใจที่จะไม่ร่วมมือกัน มันก็ใช้แค่การตัดสินใจของเราที่จะเปลี่ยนมาร่วมมือ
... ไม่มี “เขตฉัน” “ฟข. เธอ” “ฝ่ายฉัน” “หน่วยงานเธอ”
มีเพียงแค่ MEA
มันจะมีความหมายอะไรหากฝ่ายเราบรรลุ KPI แต่องค์กรล้มเหลว ความสำเร็จจึงไม่ควรมองแค่ตัวเรา ฝ่ายเรา แต่ทำอย่างไรที่จะสำเร็จทั้งองค์กร
เมื่อทุกคนยึดเป้าหมายเดียวกัน คือการบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร
เราจะ “ชนะเป็นทีม”
ไบเดนย้ำคำว่า “อนาคตของอเมริกา” หลายครั้ง เพื่อให้คนเห็นถึงเป้าหมายที่เราต่างมีร่วมกัน และย้ำว่าอเมริกาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ และผู้คนที่ดีงาม ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้เมื่อผู้คนร่วมใจกัน
MEA ก็ไม่ต่างจากสหรัฐฯ ที่เป็นองค์กรที่มีความสำเร็จมายาวนาน และสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือมีบุคลากรทุกคนที่ล้ำค่า
เป้าหมาย แผนยุทธศาสตร์ เกณฑ์การประเมิน ไม่ว่าฟังดูแล้วจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวแค่ไหน หากเราทุกคนเห็นบทบาทของตัวเองว่ายืนอยู่ตรงจุดไหน สิ่งที่เรากำลังทำช่วยสร้างคุณค่าอะไรให้องค์กร สร้างคุณค่าอะไรให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ก็ไม่ยากเกินไปที่เราจะ “ชนะด้วยกันเป็นทีม”
ไม่มีใครไปเที่ยวทะเลเพื่อชื่นชมเม็ดทราย...ทุกคนต่างไปเพื่อชมความสวยงามของชายหาดต่างหาก
--------------------
(อ่านสุนทรพจน์ฉบับเต็มที่ https://joebiden.com/presidency-for-all-americans/#)
ที่มา :
https://joebiden.com/presidency-for-all-americans/#
https://www.pewresearch.org/politics/2014/06/12/political-polarization-in-the-american-public/
https://edition.cnn.com/2020/11/09/politics/joe-biden-speech-trump/index.html
https://www.vox.com/21545969/joe-biden-2020-election-winner-trump-vote
https://edition.cnn.com/2020/07/21/politics/biden-battleground-ad/index.html
https://en.as.com/en/2020/11/07/latest_news/1604773182_971520.html
-------------------
คุณ คือ คน สำคัญ!
"กระแส" คือบทความดี ๆ ที่ตั้งใจมอบให้คุณอ่าน
อยากอ่านอะไร
อยากอ่านแบบไหน
อยากอ่านที่ใด
บอกกันหน่อย
ชวนแฟน ๆ "กระแส" ตอบแบบสอบถาม คลิก
(ผู้ตอบแบบสอบถามทุกคนมีสิทธิลุ้นรับของที่ระลึกแทนคำขอบคุณ)
ทุกความคิดเห็นมีค่า
เพราะเราอยากพัฒนาให้ ตรง ใจ คุณ
***********
อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ
14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้
13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”
12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม
11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021
10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง
09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต
08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร
07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม
06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล
05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ
04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)
03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)
02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย
01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก
ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต
- Details
- กระแสออนไลน์
- Hits: 1930
ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต
จากเหตุการณ์ท่อก๊าซ NGV ของบริษัท ปตท. ระเบิด ที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นอกเหนือจากภาพอุบัติภัยที่ดูรุนแรงน่ากลัว ภาพผู้คนและเด็กนักเรียนวิ่งหนีกันจ้าละหวั่นที่เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ นอกเหนือจากความสนใจใคร่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่เกิดขึ้น
พวกเราชาว MEA เรียนรู้อะไรจากการรับมือหลังเกิดวิกฤตของ ปตท. ได้บ้าง?
เพราะองค์กรทั้งสองแห่งต่างเป็นผู้บริการโครงสร้างพื้นฐานแก่ประชาชนเหมือนกัน
ปตท. จัดการวิกฤตนี้อย่างไร บรรเทาความรุนแรงให้ดีขึ้นได้อย่างไร
กระแสฉบับนี้ ขอพาทุกคนศึกษาไปพร้อม ๆ กัน
เริ่มตั้งแต่ เกิดอะไรขึ้น และ ปตท. บริหารจัดการอย่างไรกับเหตุการณ์วิกฤตดังกล่าว
วันที่ 22 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ 12.00 น. -- เกิดเหตุระเบิดขึ้น บริเวณใกล้โรงเรียนวัดเปร็งราษฎร์บำรุง
ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ จากภาพกล้องหน้ารถใกล้เหตุการณ์ เห็นภาพเปลวไฟพุ่งขึ้นฟ้าขนาดใหญ่ กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้บ้านเรือนบริเวณรอบเสียหายอย่างรุนแรง เด็กนักเรียนต้องวิ่งหนีกันอลหม่าน ภาพความน่ากลัวนี้กลายเป็นกระแสข่าวอย่างรวดเร็ว
ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ปตท. ออกแถลงการณ์ทันที และหลังจากนั้นก็ออกแถลงการณ์และให้ข้อมูลเป็นระยะ ๆ
ในวันเดียวกันนั้นเอง – ผู้อำนวยการการไฟฟ้านครหลวงเขตบางพลี ได้ประสาน ปตท. นำทีมวิศวกร ผู้ตรวจ และพนักงานช่าง ลงพื้นที่อย่างไม่รอช้า เพื่อตรวจสอบความเสียหายและเร่งดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้ากลับมามีไฟฟ้าใช้ให้เร็วที่สุด ในขณะเดียวกัน ปตท. ได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉิน และเร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่ เข้าพื้นที่เพื่อระงับเหตุ และดำเนินการตัดแยกระบบบริเวณช่วงท่อดังกล่าว แจ้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทราบ นอกจากนี้ได้ประสานงานทีมดับเพลิงในพื้นที่เพื่อร่วมระงับเหตุ และร่วมกับจังหวัดสมุทรปราการ จัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ในพื้นที่วัดเปร็งราษฎร์บำรุง เพื่อสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม และที่พักชั่วคราวในระยะเร่งด่วน บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และอำนวยความสะดวกแก่ทีมปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบว่ามีผู้บาดเจ็บ 28 ราย และผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่ง ปตท. ได้ร่วมกับหน่วยกู้ภัยในพื้นที่เร่งนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลในพื้นที่ พร้อมแสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย และประกาศว่าพร้อมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด
ด้านผลกระทบกับลูกค้าก๊าซ ปตท. ได้ดำเนินการจ่ายก๊าซย้อนให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม บริเวณนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และนิคมอุตสาหกรรมเอเชียสุวรรณภูมิ รวมทั้ง ปตท. ได้ประสานกับ กฟผ. ในการจ่ายก๊าซเพิ่มเติมให้แก่โรงไฟฟ้าในพื้นที่อื่น เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีความต่อเนื่อง รวมถึงได้เผยแพร่บทความเรื่อง “มาตรฐานการดูแลรักษาท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท.” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน
วันรุ่งขึ้น (วันที่ 23 ตุลาคม 2563) -- ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ลงพื้นที่ เยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 โดยประกาศจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล พร้อมจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เสียชีวิตคนละ 5 ล้านบาท ผู้ที่มีอาการสาหัสจะจ่ายชดเชยคนละ 500,000 บาท ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาล ชดเชยคนละ 200,000 บาท ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บและกลับบ้านแล้ว ชดเชยคนละ 50,000 บาท สำหรับการชดเชยบ้านเรือนและทรัพย์สินที่เกิดความเสียหาย อยู่ระหว่างประเมินมูลค่าและจะบรรเทาผลกระทบให้ดีที่สุดโดยเร็ว รวมถึงพร้อมสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ
วันที่ 24 ตุลาคม 2563 – MEA ประสานงานกับ ปตท. ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจและบริการ ได้นำทีมลงสำรวจอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้งส่วนสายส่ง และตามอาคารของผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนจ่ายกระแสไฟฟ้าคืนตามปกติ
วันที่ 25 ตุลาคม 2563 -- ปตท. เปิดเผยมาตรการด้านความปลอดภัยของระบบท่อส่งก๊าซ โดยยืนยันว่า ปตท. ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในการบริหารจัดการท่อส่งก๊าซอย่างเคร่งครัดตลอดมา โดยปัจจุบัน ปตท. มีการยกระดับการตรวจสอบและเฝ้าระวังให้สูงขึ้นกว่ามาตรฐาน โดยเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนตรวจสอบแนวท่อส่งก๊าซเป็น 2 เท่า สำหรับการตรวจสอบหาสาเหตุ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งชิ้นส่วนท่อส่งก๊าซ และตัวอย่างดินให้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เพื่อวิเคราะห์ความเสียหาย
นอกจากนี้ ยังมีพนักงานและจิตอาสาจาก ปตท. ร่วมฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ ช่วยสำรวจซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ทำความสะอาด รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่โรงเรียนเปร็งวิสุทธาธิบดีและสถานีตารวจภูธรเปร็ง และร่วมลงพื้นที่เพื่อสำรวจผู้ได้รับผลกระทบ
คำถามคือ... MEA เรียนรู้อะไรจาก ปตท. ได้บ้าง
สิ่งที่ชัดเจนที่สุด คงไม่พ้น “ความเร็ว” แค่เพียงเย็นของวันที่เกิดเหตุ ปตท. ก็เข้าไปตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชนแล้ว ทำให้คนที่เดือดร้อน ญาติของคนที่บาดเจ็บ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบเหตุได้รู้ว่า มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน (ปตท.) อยู่เคียงข้างเพื่อจะรับเรื่องและช่วยเหลือเขาอยู่ตลอดเวลา
และเพียง 1 วันหลังเกิดเหตุ ก็สามารถประกาศตัวเลขการเยียวยาได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้เสียหายรับรู้ได้ถึงการไม่ถูกทอดทิ้ง ในวันที่สภาพจิตใจน่าจะย่ำแย่ที่สุด โดยที่ไม่ต้องรอผลตรวจสอบสาเหตุเลยว่าเป็นความผิดพลาดของ ปตท. หรือไม่
นอกจากผู้ได้รับความเสียหาย ปตท. ยังประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว เช่น คู่ค้าอย่างนิคมอุตสาหกรรม กฟผ. รวมถึง MEA เอง ในการเข้าพื้นที่ตรวจสอบอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ให้กลับมาดำเนินการและใช้ในการทำงานของนิคมอุตสาหกรรม และในชีวิตประจำวันของประชาชนได้โดยเร็ว
ความเร็วนี้ ยังรวมไปถึงความเร็วในการสื่อสารด้วย ปตท. ออกแถลงการณ์ฉบับต่าง ๆ ที่ชัดเจน เห็นขั้นตอนในการทำงาน ทำให้กระแสข่าวที่ออกไปไม่แตกตื่นเกินไป และที่สำคัญ ไม่ไร้ทิศทางจนทำให้เกิดกระแสข่าวลือในสังคม
ความเร็วนี่เองที่เป็นหัวใจ ลองจินตนาการว่าหากเกิดเหตุแล้ว ยังไม่มีใครออกมาบอกอะไร ชาวบ้านที่เสียหายไม่รู้ว่าจะได้รับการเยียวยาอย่างไร ต้องติดต่อกับใคร คู่ค้าไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความเสียหายระลอกสองสามสี่ห้าเหล่านี้ อาจจะเกิดข่าวลือจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงองค์กรมากกว่าตัวอุบัติเหตุเสียด้วยซ้ำ
กระแสสังคมจากการตรวจสอบผ่านเครื่องมือ Social listening ที่อ่านกระแสความเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์อย่าง ZocialEye ยังรายงานว่าความเห็นบนโลกออนไลน์เป็นไปในทางบวก 22.26% ทางลบ 13.13% ซึ่งความเร็วในการตอบสนองนี่เอง ที่น่าจะช่วยทำให้เหตุการณ์ที่ควรจะเป็นเรื่องลบ กลายเป็นความเห็นทางบวกได้
สิ่งที่น่าศึกษาต่อไป คือ แล้วทำไมถึงเร็วได้ขนาดนี้?
และหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะคล้าย ๆ กัน...
...เราจะทำอย่างไรให้เร็วได้แบบนี้
เชื่อว่าเป็นเพราะ ปตท. น่าจะต้องมีการเตรียมพร้อมและมีคู่มือหรือแผนปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนและอย่างชัดเจนว่าเมื่อเกิดเหตุลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ต้องปฎิบัติอย่างไร ใครทำอะไรบ้างในภาวะวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ในวันที่เกิดวิกฤต ผู้บริหารทุกคน และ พนักงานทุกคน มีแนวทางที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง
จะเห็นได้ว่าการรับมือของ ปตท. กระจายไปในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ประชาชนผู้เสียหาย มีการเข้าหาอย่างรวดเร็ว มีการประสานงานกับหน่วยงานรัฐ การส่งข่าว และปรับการให้บริการกับคู่ค้า แม้กระทั่งการเผยแพร่ข่าวสาธารณะในทางที่เป็นประโยชน์กับสถานการณ์ เรียกได้ว่าทุกฝ่ายช่วยกันรับมืออย่างรวดเร็ว ตามหน้าที่ของตัวเอง นอกจากนี้ คนในองค์กรมีจิตอาสา ร่วมกันรับผิดชอบคนละไม้ละมือตามงานที่แต่ละส่วนงานถนัด ไม่ว่าจะเป็นงานตรวจสอบ ช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัย ปรับภูมิทัศน์ในส่วนที่เสียหายให้กับชุมชน อย่างแข็งขันอีกด้วย
การมีแผนที่ชัด และการรู้หน้าที่บทบาทของตัวเองนี่เอง ที่น่าจะเป็นบทเรียน ที่เราชาว MEA น่าจะเรียนรู้ได้จากเหตุการณ์นี้ ซึ่งทางฝ่ายบริหารความเสี่ยงของ MEA ก็มีแผนขั้นตอนการดำเนินงานในภัยพิบัติอยู่แล้ว แม้แต่ละภัยพิบัติจะมีรายละเอียดต่างกันไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่มีร่วมกัน คือ ทุกแผนจะมีการกำหนดผู้มีหน้าที่สั่งการ อำนวยการและประสานระหว่างคณะกรรมการจัดการวิกฤตการณ์ (Crisis Management Committee: CMC)
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งสำคัญกว่าตำแหน่งที่แต่งตั้ง หากผู้บริหาร สายงาน พนักงานทุกคน เห็นกระบวนการตัวเอง เห็นตัวชี้วัดของตัวเอง รู้ว่าบทบาทงานของตัวเองมีความเสี่ยงตรงไหนที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุ การวิ่งเข้ารับมือจัดการกับสถานการณ์ที่วิกฤตโดยมีลูกค้าเป็นที่ตั้ง กับความตั้งใจว่าจะทำอย่างไรเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้ได้เร็วที่สุด
นอกจาก “ความเร็ว” ที่เป็นหัวใจแล้ว แก่นกลางของหัวใจดวงนั้นก็คือ “คำถาม”
คำถามอะไร?
คำถามที่ไม่ใช่แค่ว่า “เกี่ยวกับเราไหม” ... แต่เป็นคำถามที่เราทุกคนควรถามตัวเองในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบสาธารณูปโภคหลักว่า “เราจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนอะไรได้บ้าง” ต่างหากเป็นสิ่งสำคัญ
Customer Focus – เพราะไม่ว่าจะด้วยเหตุใด คน MEA “ทุกคน” ควรระลึกไว้เสมอว่า ... เรามีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน
“สุข” คือ การที่ประชาชนทุกคนมีไฟฟ้าใช้
“สุข” คือ ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด หรือในภาวการณ์ใด ๆ ที่ทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่เราทำให้ไฟฟ้ากลับคืนมาได้เร็วที่สุด
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ เราไม่มีทางรู้ว่าเมื่อไร แต่ถ้าเราทุกคนมี mindset มีธงในใจในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย มีการวางแผนเตรียมรับมือ รู้ว่าตัวเองต้องอยู่ตรงไหนและทำอะไร และมีความร่วมมือร่วมใจกันในองค์กรโดยมีประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก เมื่อเกิดเหตุวิกฤต ความร้ายแรงก็จะถูกจัดการให้บรรเทาเบาบางได้ในที่สุด
ในทุกอุบัติเหตุ ความเสียหายและความรุนแรงที่เกิดขึ้น มักบรรเทาลงด้วยความพร้อมในการรับมือ
และเชื่อไหมว่า “ทุกคน” ในองค์กรล้วนอยู่ในสมการความพร้อมที่ว่านี้ จะมากจะน้อย จะรูปแบบใด ... แค่นั้นเอง
เพราะความพร้อมที่ดีที่สุด คือ “ทุกคนพร้อมที่จะลุกขึ้นช่วย”
แผนรับมือสำคัญ
แต่การปฏิบัติตามแผนด้วย “ความเห็นอกเห็นใจและมีประชาชนเป็นหลัก” นั้นสำคัญยิ่งกว่า
ขอบคุณข้อมูลประกอบบทความ :
- ฝ่ายพัฒนาคุณภาพองค์กร (Productivity Society)
- ฝ่ายบริหารความเสี่ยงองค์กร
ที่มา :
https://news.thaipbs.or.th/content/297678
https://www.sanook.com/money/798095/
https://www.thairath.co.th
Facebook: PTT News
----------
อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ
14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้
13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”
12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม
11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021
10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง
09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต
08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร
07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม
06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล
05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ
04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)
03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)
02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย
01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก
ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร
- Details
- กระแสออนไลน์
- Hits: 1767
ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง
คน MEA ได้เรียนรู้อะไร
ข่าวสะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนเป็นพ่อเป็นแม่ จากกรณีครูโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง ทำร้ายเด็กอย่างรุนแรง จนนักเรียนหลายคนมีอาการกระทบกระเทือนทั้งทางกายและจิตใจ
มากกว่าภาพจากกล้องวงจรปิด ที่พ่อแม่ทุกคนเห็นแล้วหัวใจสลาย คำสัมภาษณ์จากผู้บริหาร ที่เปลี่ยนวิกฤติกลายเป็นวินาศ คนการไฟฟ้านครหลวงควรเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ เพื่อนำมาปรับใช้ในองค์กรเราได้บ้าง
เกิดอะไรขึ้นที่ “โรงเรียน” แห่งนี้
เรื่องเริ่มต้นจากพ่อแม่กลุ่มหนึ่ง รู้สึกถึงความผิดปกติของลูกตัวเอง บางคนนอนไม่หลับ กระวนกระวายไม่อยากไปโรงเรียน บางคนมาถึงหน้าโรงเรียนก็ร้องให้ไม่อยากเข้าเรียน บางคนมารับกลับบ้านก็หิวข้าวโซเหมือนไม่ได้กินอะไรมา บางคนปวดปัสสาวะหนัก ต้องวิ่งเข้าห้องน้ำทันทีที่เจอหน้าพ่อแม่ จึงได้รวมตัวกันไปขอดูภาพกล้องวงจรปิดในห้องเรียน และเมื่อได้เห็นเหตุการณ์ก็แทบล้มกองไปกับพื้น เมื่อเห็นภาพครูผู้ช่วยที่ดูแลลูก ๆ ของพวกเขาทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียน ภาพความรุนแรงนี้ กลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ เพราะภาพมันรุนแรงจนน่าสะเทือนใจเหลือเกิน หลาย ๆ ความเห็นตั้งคำถามว่า คนแบบนี้มาเป็นครูได้อย่างไร แต่หลายคนก็ตั้งคำถามที่ใหญ่กว่านั้นว่า แล้วโรงเรียนปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร
มากกว่าแค่โรงเรียน 1 แห่ง ปัญหาของทั้งระบบที่สะท้อน “แผล” ของการบริหารและการควบคุมคุณภาพ
โรงเรียนชื่อดังแห่งนี้ เป็นหนึ่งในเครือโรงเรียนจำนวน 40 กว่าแห่ง ที่บริหารโดยบริษัทใหญ่ มีบุคลากรผู้สอนกว่า 9,000 คน และมีนักเรียนมากถึง 90,000 กว่าคน
เมื่อเหตุการณ์เริ่มเป็นข่าวดัง กระทรวงศึกษาธิการก็เปิดเผยว่า ไม่ใช่แค่ที่โรงเรียนแห่งนี้เท่านั้น แต่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโรงเรียนในเครือนี้ทั้งหมดถึง 34 โรงเรียน จากทั้งหมด 42 โรงเรียน (เฉพาะในสังกัดคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ)
ดูเหมือนว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของครูแย่ ๆ หนึ่งคนเท่านั้น แต่น่าจะต้องเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรของเครือโรงเรียนดังกล่าว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แน่นอนว่าตัวบุคคล อย่าง “ครู” นั้นเป็นปัญหา แต่เราไม่อาจมองปัญหานี้ว่าเป็นความผิดพลาดส่วนบุคคลได้อีกต่อไป เมื่อพิจารณาว่าครูท่านนี้ทำงานมานาน 7 ปีแล้ว และเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก รวมถึงเมื่อมีครูท่านอื่นในโรงเรียนก็รับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้ทำอะไร ซ้ำร้ายโรงเรียนอื่น ๆ ในเครือก็มีเหตุการณ์รุนแรงแบบเดียวกัน ที่เมื่อโรงเรียนแรกเป็นข่าว ที่อื่นก็เริ่มโดนขุดภาพกล้องวงจรปิดออกมา
แม้จะมีจดหมายภายในของประธานบริษัท ที่ส่งถึงโรงเรียนในเครือทั้งหมด ว่าได้มีการห้ามไม่ให้มีการตีนักเรียนมาเป็นเวลานานแล้วนั้น แต่ดูเหมือนความเป็นจริงจะตรงกันข้าม เนื้อหาในจดหมายยังพูดถึงการให้ผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียนคอยเดินตรวจดูกล้องวงจรปิดอย่างสม่ำเสมอ แต่ดูเหมือนว่าแนวนโยบายจากส่วนกลาง จะไม่เคยได้รับการปฏิบัติจริง
เมื่อข่าวเริ่มเป็นที่สนใจของสังคมมากขึ้น แผลต่าง ๆ จากการบริหารผิดพลาดก็ยิ่งถูกเปิดเผยขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ครูหลายคนไม่มีใบอนุญาตการสอน การรับจำนวนเด็กต่อห้องเกินกว่าที่กระทรวงฯ กำหนดไว้ และครูต่างชาติหลายคนไม่มีใบอนุญาตทำงาน
หากเราอ่านจดหมายที่ประธานส่งถึงโรงเรียนในเครือ ข้อความอย่าง “ยังมีคนฝ่าฝืนอยู่เป็นประจำ” “ได้บอกไปหลายครั้งแล้ว” ก็อาจพอจับใจความได้ว่า มีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างนโยบายจากส่วนกลาง กับการปฏิบัติที่หน้างานของโรงเรียนในเครือ ที่ไม่อาจตอบได้ว่าเป็นความบกพร่องของหน้างานที่ไม่ทำตามส่วนกลาง หรือเป็นความหละหลวมของส่วนกลาง ที่ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพที่ดีพอ
ตกผลึกความคิด จากโรงเรียน สู่การพัฒนาการควบคุมคุณภาพของ MEA
นอกจากความสะเทือนใจที่เกิดขึ้น
บทเรียนที่ชาว MEA ควรเรียนรู้ คืออะไร
หลังจากถอนหายใจ ตั้งสติจากภาพเด็กที่ถูกทำร้ายอย่างรุนแรง พวกเราทุกคนในฐานะพนักงาน MEA เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง หากเรามองเป็นภาพใหญ่ ก็จะเห็นว่าทั้งโรงเรียนและผู้ให้บริการไฟฟ้า ต่างก็อยู่ในธุรกิจบริการที่จำเป็นจะต้องตอบสนองผู้ใช้ให้ได้คุณภาพตามที่คาดหวัง
พ่อแม่คาดหวังการศึกษาที่ดีให้กับลูกเขาอย่างไร ผู้ใช้ไฟฟ้าก็คาดหวังระบบไฟฟ้าที่มั่นคงปลอดภัยจาก MEA เช่นนั้น พ่อแม่คาดหวังว่าครูจะดูแลลูก ๆ ของเขาด้วยความรัก ผู้ใช้ไฟก็คาดหวังจะได้รับบริการอย่างเป็นมิตรในทุกขั้นตอนที่ติดต่อกับเรา ฝ่ายบริหารโรงเรียนต้องดูแลคุณภาพให้ทั่วถึงทั้ง 49 โรงเรียน กับนักเรียนกว่า 90,000 คนอย่างไร การไฟฟ้านครหลวงก็ต้องมีมาตรฐานการทำงาน ทั้งเป็นหนึ่งเดียวกันในทุกที่ทำการ เพื่อดูแลผู้ใช้ไฟกว่า 3.9 ล้านรายเช่นนั้น
หากมองกันให้ดี ในมุมมองของผู้ตรวจสอบภายใน ผู้บริหารสถานศึกษาแห่งนี้ ควรกำหนดมาตรการควบคุมภายใน ที่สำคัญ 3 ประเภท ให้เหมาะสมกับผลกระทบที่เกิดขึ้น
- การควบคุมภายในเชิงป้องกัน (Preventive Control) เป็นการควบคุมที่ต้องการป้องกันไม่ให้ความผิดพลาด หรือความไม่ถูกต้อง ความไม่เหมาะสม เกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงเป็นการควบคุมที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาจะเกิด เช่น
- มีมาตรฐานในการรับบุคลากรเข้าทำงาน
- มีการกำหนดคุณสมบัติครูต้องมีประสบการณ์หรือใบประกอบวิชาชีพ
- มีการทดสอบความรู้ความสามารถของบุคลากรและสุขภาพจิตก่อนการปฏิบัติงาน
- มีการจัดอบรมเกี่ยวกับการจัดการทางอารมณ์ให้แก่บุคลากร
- การควบคุมเชิงค้นพบ (Detective Control) เป็นการควบคุมเพื่อต้องการค้นหาข้อผิดพลาดหลังจากที่ความผิดเหล่านั้นได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น
- มีการจัดการประเมินผลการทำงานของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ
- มีการตรวจสอบโดยการสังเกตการณ์จากการปฏิบัติงานจริงของบุคลากร
- มีแบบสำรวจความพึงพอใจจากผู้ปกครอง และนักเรียน โดยผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง
- การควบคุมเชิงแก้ไข (Corrective Control) เป็นการควบคุมที่แก้ไขปัญหาที่ตรวจพบความผิดพลาดแล้วเช่น
- มีมาตรการในการจัดการ กรณี เกิดเหตุที่ไม่คาดคิด เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อนักเรียน
- มีมาตรการเยียวยา หากโรงเรียนหรือบุคลากรในโรงเรียนก่อให้เกิดความเสียหายแก่นักเรียนหรือผู้ปกครอง
- มีแผนสำรอง หากโรงเรียนโดนกระทรวงศึกษาธิการสั่งปิด/ปิดชั่วคราว
มุมของ MEA
แล้วทุกคนรู้หรือไม่ว่า MEA ก็มีการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบภายในการปฏิบัติงานของ MEA ทุกขั้นตอน เพื่อให้การทำงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีการรับประกันการบริการต่อผู้ใช้ไฟฟ้า
MEA มีคู่มือหรือแนวทางในการปฏิบัติงานของการไฟฟ้านครหลวงเขต มีระบบการบริหารมาตรฐานงานคุณภาพ (ISO 9001: 2015) มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพบริการของการไฟฟ้านครหลวง เพื่อกำหนดระยะเวลาในการให้บริการประเภทต่าง ๆ เรามีแม้กระทั่งคู่มือการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของผู้บริหาร ที่เชื่อว่าหลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็น
ในส่วนของมาตรฐานคุณภาพบริการ MEA ลงลึกไปมากกว่านั้น คือ กำหนดให้มีการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้ไฟฟ้าใน 3 มิติ ด้วย ได้แก่ 1) ความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ 2) กิริยามารยาทของพนักงานให้บริการ และ 3) ระยะเวลาในการดำเนินการตามการร้องขอที่เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อพัฒนาปรับปรุงการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
และที่ขาดไม่ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ วัฒนธรรมด้านความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน ซึ่ง MEA ก็มีนโยบายนี้มาตั้งแต่ปี 2544
มีระบบดี แต่ไม่ปฏิบัติตาม
ก็ไม่ต่างจาก “ไม่มีระบบ”
ขอให้ทุกคนตระหนักว่า “เรา” ล้วนเป็นส่วนสำคัญ
จงรักษามาตรฐาน เพื่อครองใจ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”
ก่อนจะเหลือเพียง “ส่วนเสีย” ไม่มี “ส่วนได้” อะไรเลย
ในฐานะพนักงานคนหนึ่ง เรามีส่วนช่วย หากจะพูดให้ถูกต้องกว่านั้น คือ “เรา” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบการควบคุมตรวจสอบที่ว่านี้ทำงานตามกลไกของมันอย่างสมบูรณ์
แน่นอนว่าการไฟฟ้านครหลวง มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการสร้างระบบควบคุมคุณภาพ วางมาตรฐานในการทำงาน เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ได้รับการบริการที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนที่เราให้บริการ
แต่องค์กร ก็ไม่ต่างอะไรจากภาพจิ๊กซอว์ที่ประกอบขึ้นจาก “คน” ตัวเล็ก ๆ
คน MEA ทุกคนจึงเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญขององค์กร และระบบที่ดีที่สุดก็ไม่อาจดำเนินการได้หากคนในระบบนั้นไม่ร่วมใจกัน
เมื่อมีระบบที่ดี แต่หากไม่นำระบบที่ดีนั้นมาใช้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มีระบบที่ดี แต่ไม่ปฏิบัติตามระบบ “การบริหารงานที่ดี” ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
และการปฏิบัติตามระบบที่ดี หากมองไปไกลกว่านั้น ไม่ใช่แค่ “เราปฏิบัติถูกต้องก็พอแล้ว”
แต่รวมถึงการ “เป็นหูเป็นตา” และ “เป็นปากเป็นเสียง” เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามระบบด้วย
ดังนั้น การดูแลคุณภาพและมาตรฐานของ MEA ก็คือการที่ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลการทำงานในส่วนของตัวเอง และรอบ ๆ ตัวเอง ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีมาตรฐาน และไม่นิ่งเฉย
ส่งเสียง เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การปล่อยผ่านและคิดเสียว่าไม่ใช่ธุระของเรานั้น เมื่อวันหนึ่งผลเสียเกิดขึ้นกับองค์กร เมื่อจิ๊กซอว์ถูกทำให้เสียหาย ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ก็ย่อมกระจัดกระจายเช่นกัน
เพราะคนที่ควรถูกเพ่งเล็งจากสังคม ไม่ใช่แค่ครูคนนี้เท่านั้น แต่ควรเป็นครูคนอื่น ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่กลับนิ่งเฉยกับความผิดปกตินี้ด้วยเช่นกัน
และเหตุการณ์นี้ ยังสอนเราอีกว่า...
พนักงานหนึ่งคนมีพลังมากพอที่จะสร้างภาพจำขององค์กรได้ ซึ่งภาพจำดังกล่าวจะดีหรือไม่ อยู่ที่พวกเราทุกคน
-----------------
ขอบคุณข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในของ MEA จากฝ่ายตรวจสอบภายใน
ที่มา :
https://www.prachachat.net/education/news-530131
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_5002514
https://www.thebangkokinsight.com/444206/
------------------
อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ
14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้
13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”
12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม
11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021
10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง
09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต
08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร
07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม
06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล
05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ
04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)
03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)
02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย
01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก