• หน้าแรก
  • สื่อออนไลน์กระแส
  • วารสารประกาย
  • คลิป
    • รายการถามตรงตอบตรงกับผู้ว่าการกีรพัฒน์
    • รายการ MEA Today Talk
    • รายการเปิดประตูดูห้องเวร
    • รายการชม ชิม ชอป
    • รายการ MEA Knowledge Tube
    • คลิปอื่น ๆ
  • สำหรับผู้ดูแลระบบ

ฉีด – ไม่ฉีด กับการตัดสินใจที่ดีที่สุด

  • Print
Details
กระแสออนไลน์
19 May 2021
Hits: 7127

 

ฉีด – ไม่ฉีด กับการตัดสินใจที่ดีที่สุด

 

วิกฤต COVID-19 เป็นวิกฤตใหญ่ระดับโลกที่พวกเราน่าจะเจอกันไม่กี่ครั้งในช่วงชีวิตหนึ่ง การมาถึงของวัคซีนนั้น คือ แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่คนทั้งโลกเฝ้ารอ เพื่อที่จะยุติผลกระทบ กลับมาเปิดเศรษฐกิจ คืนวิถีชีวิตแบบ (เกือบเหมือน) เดิมให้กลับมาได้

 

วันนี้สถานการณ์เกี่ยวกับวัคซีนในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง มีเรื่องอะไรที่เราควรรู้ เพื่อจะได้ตัดสินใจด้วยเหตุผล ก่อนจะจิ้มเข็มเข้าในแขนของเรา

 

 

ฉีดวัคซีนไปทำไม…

 

เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนอย่างถ่องแท้ เราต้องมาเข้าใจกันก่อนว่าเราฉีดวัคซีนกันไปทำไม?

 

ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดโรคใด วัคซีนนั้นถูกออกแบบมาเพื่อป้องกัน 3 อย่าง คือ กันติด กันตาย และกันหมู่

 

กันติด ก็คือป้องกันไม่ให้ตัวเราไปติดโรคได้ กันตายก็คือ ต่อให้เราติดโรคนั้น อาการก็อาจจะไม่ร้ายแรง จนต้องล้มหมอนนอนเสื่อเข้าโรงพยาบาล และกันสุดท้ายคือกันหมู่ หมายถึง การฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ในสังคม หรือ herd immunity นั่นหมายถึงคนจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันแล้ว ต่อให้มีคนที่ติดเชื้อ การแพร่ระบาดก็จะกระจายได้ไม่กว้างมากนัก ซึ่งการเกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้นั้น ประชากรในประเทศไทยต้องมีภูมิต้านทานไม่ต่ำกว่า 70%

 

สำหรับการระบาดครั้งนี้ก็เช่นกัน ทุกวัคซีนที่มีอยู่ในโลกตอนนี้ และทุกประเทศทั่วโลกที่กำลังรณรงค์เร่งฉีดวัคซีนกันอย่างถึงที่สุด ก็เพื่อป้องกัน 3 อย่างนี้ 

 

 

ที่อื่น... ฉีดกันไปถึงไหนแล้ว

 

หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จใจการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตัวเองได้เป็นจำนวนมาก เริ่มเห็นการกลับมาของวิถีชีวิตปกติ

 

เช่น ในประเทศอิสราเอล ที่วัคซีนเข็มแรกถึงแขนประชาชนแล้วว่า 62% รัฐบาลเพิ่งจะประกาศยกเลิกมาตรการบังคับให้ใส่หน้ากาก ทำให้เราได้เห็นภาพที่คุ้นเคย ที่ผู้คนสังสรรค์กันตามท้องถนน ร้านอาหาร กลับมาเป็นเหมือน (เกือบ) ปกติ

 

หรือในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มออกมาตรการไม่ต้องใส่หน้ากากหากได้รับวัคซีนแล้ว หรือในอังกฤษ ที่เริ่มผ่อนปรนให้ร้านอาหาร ผับ เริ่มเปิดทำการได้ตามปกติ

 

จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า นอกจากวัคซีนจะมีประโยชน์กับตัวเราเอง ในฐานะที่ป้องกันไม่ให้เราติดโรค หรือติดแล้วไม่เจ็บป่วยรุนแรง วัคซีนยังเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเทศในการฟื้นตัวกลับมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ไวรัสตัวนี้ได้ก่อขึ้นด้วย

 

 

แล้วในประเทศไทยตอนนี้... ฉีดไปถึงไหนแล้ว

 

ณ วันนี้ (19 พ.ค. 2564) ประเทศไทย​ฉีดวัคซีนเข็มแรกกันไปแล้ว ประมาณ 1,500,000 คน หรือประมาณ 9%  ของประชากรทั้งประเทศ

 

และท่ามกลางตัวเลขการระบาดซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละไม่ต่ำกว่าพันคนแบบนี้ วัคซีนก็ยิ่งดูเป็นหนทางแห่งโอกาส

 

แต่ด้วยกระแสข่าวมากมายที่เกิดขึ้น หลายคนอาจจะเริ่มสับสนว่าแล้วเราควรจะฉีดดีไหม จะมีผลข้างเคียงหรือเปล่า วัคซีนมีประสิทธิภาพจริงไหม ยี่ห้อไหนถึงจะดี

 

ความลังเลและไม่แน่ใจไม่ใช่สิ่งผิด มันยิ่งดีเสียอีก เพราะทำให้เราย้อนถามตัวเองอีกครั้ง

และจะเป็นการดีที่สุดที่จะหาข้อมูลและเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์มาตอบความสับสนนี้ เพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึก

 

ทีมงานกระแสเองก็เช่นกัน และเมื่อเราหาข้อมูล ก็พบข้อเท็จจริง 2 ข้อ ที่หลายคนอาจจะยังมองข้ามไป นั่นก็คือ

 

1. นอกจากฉีด “กันติด” แล้ว วัคซีนยังช่วย “กันตาย” ได้

 

หลายคนถกเถียงกันเรื่องตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนว่าดีจริงไหม ยี่ห้อนั้นดีกว่ายี่ห้อนี้อย่างไร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งพูดไว้ว่า “วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เราได้ก่อน”

(ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน COVID-19 และเป็นผู้ติดตามศึกษาอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน COVID-19 ทั้งหมดของไทย รายละเอียดเพิ่มเติม)

 

และหากมองลึกลงไปกว่านั้น มีอีกตัวเลขที่คนอาจจะดูไปไม่ถึง นั่นก็คือ ไม่ว่ายี่ห้อไหน ผลในการป้องกันการเสียชีวิตนั้น สูงเกือบ 100% ทุกยี่ห้อ

นั่นหมายความว่า หากเราได้รับวัคซีนแล้ว ไม่ว่ายี่ห้อใดก็ตาม ต่อให้ติดเชื้อ อาการเจ็บป่วยจากรุนแรง หรือกระทั่งเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลก็จะลดลงอย่างมาก และนี่คือกุญแจสำคัญ เพราะการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของ COVID-19 นั้น ไม่ใช่เพราะตัวโรคเองอย่างเดียว แต่เป็นการติดเชื้อจำนวนมาก ๆ พร้อม ๆ กัน จนระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหว หากเราได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ต่อให้เชื้อโรคนี้ยังไม่หายไป แต่อย่างน้อยมันก็จะทำอะไรเราไม่ได้มากแล้ว จากเสือที่ดุร้ายเวลาหิวกระหายขย้ำเหยื่อ ก็อาจกลายเป็นแค่แมวที่พอทิ้งรอยข่วนบ้างเวลาไม่สบอารมณ์

 

2. ผลข้างเคียงมีจริง นอกจากตัวเลข ต้องดูที่เรื่องราว

 

หลายคนมีความกังวลกับการฉีดวัคซีนเพราะข่าวผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น หลายคนกลัวจะแขนขาชา กลัวเป็นอัมพฤกษ์ หรือเกิดอาการแพ้อื่น ๆ ที่อันตรายกว่านั้น

 

แน่นอนว่าเมื่อเห็นข่าวแบบนี้ พวกเราหลายคนก็คงเกิดความกลัว และใช่... มันอาจเกิดกับใครก็ได้

 

แต่หากเรามองเรื่องนี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และมีหลักฐานสนับสนุน เราจะพบว่าอาการแขนขาชานั้นส่วนใหญ่เป็นอาการชั่วคราว แม้บางคนจะนานเป็นแค่ระดับชั่วโมงและนาที หรือบางคนเจออาการนี้นานเป็น 3-4 วัน ก็แล้วแต่ รวมทั้งอาการที่หลาย ๆ คนกลัวมากอย่างฉีดแล้วมีลิ่มเลือดอุดตันนั้น หากมองดูที่ตัวเลขสถิติ นั่นคือ 4 ใน 1,000,000 คน

 

มาดูสถิติความเสี่ยงจากการเสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศไทยกันบ้าง ซึ่งที่อยู่ที่ 10.98 ใน 100,000 คน

 

หรือจะเปรียบเทียบให้ใกล้ตัวเข้ามาอีก โอกาสเสียชีวิตจากวัคซีนนั้น ใกล้เคียงกับโอกาสในการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ที่มีโอกาส 1 ใน 1,000,000 แบบห่างกันไม่มาก

 

จะว่าเสี่ยง... ก็ใช่ แต่จะว่าไม่เสี่ยง... ก็ใช่

 

แล้วทำไมเราถึงรู้สึกว่าผลข้างเคียงนั้นมันน่ากลัวเหลือเกินล่ะ สาเหตุก็เพราะว่าเรื่องนี้เป็น “เรื่องใหม่” ไม่มีใครคุ้นเคยกับมันมาก่อน

 

จะพูดให้ถูกกว่านั้น ความใหม่และไม่คุ้นเคย ไม่ได้อยู่ที่ “การฉีดวัคซีน” เพราะเมื่อเป็นทารกจนถึงวัยเด็ก เราทุกคนต่างได้รับวัคซีนกันมาหมดแล้วทั้งนั้น หากแต่มันเป็นวัคซีนสำหรับ “โรคใหม่” ต่างหาก และนี่เองคือสาเหตุที่ทำให้เราไม่คุ้นเคย

 

ดังนั้น เมื่อมีข่าวผลข้างเคียงออกมาก็ทำให้จิตใจเราพร้อมจะมีทัศนคติแบบป้องกันตัวเองไว้ก่อนอยู่แล้ว รวมถึงเรื่องอันตรายที่เกิดขึ้นแบบนี้มักจะเป็นข่าวมากกว่าเคสที่ปลอดภัยดี ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเคสที่ปลอดภัยนั้นมีจำนวนมากกว่ามหาศาล แต่เมื่อมันปกติดี ก็ไม่รู้จะหยิบประเด็นอะไรมาเป็นข่าวนั่นเอง

 

 

วัคซีน... กับการตัดสินใจที่ดีที่สุด

 

วัคซีนเป็นเรื่องใหม่ สำหรับทั้งเราและคนทั้งโลก แน่นอนว่ามันย่อมทำให้เกิดความไม่มั่นใจ กังวล

 

แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ด้วยเหตุผล ด้วยวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ตัดสินเพียงจากเรื่องราว ความเชื่อ หรือเรื่องที่ได้ยินต่อ ๆ กันมา เพื่อที่เราจะตัดสินใจบนตัวเลือกที่ดีที่สุดที่เรามี ตามเหตุผลที่ดีที่สุด

 

และตัดสินใจบนผลประโยชน์ต่อตัวเราเอง... และต่อคนรอบตัวที่เรารักด้วย

 

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว และต้องการฉีดวัคซีน MEA ของเราก็มีการสำรวจความต้องการรับวัคซีนไปแต่ละหน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมและเป็นทางเลือกหนึ่งให้พนักงานสามารถรับวัคซีนกับโรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวง หรือจะลงทะเบียนกับ “หมอพร้อม” ก็ได้ และถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ไม่ได้แปลว่าเราสามารถยุติการป้องกันตัวเองได้ เรายังคงต้องยึดหลัก D-M-H-T-T-A และดูแลสุขภาพ มีวัคซีน เราก็ยังสามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ วัคซีนเป็นภูมิคุ้มกันให้เราออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้อย่างมั่นใจขึ้น มันคือการตัดวงจรให้สั้นลง จำกัดวงให้แคบขึ้น เพราะไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ แต่วัคซีนที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังและป้องกันตนเองอย่างดีที่สุด และนั่นคือหนทางที่ทำให้พวกเราทุกคนสามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุดบนความไม่ปกติที่เกิดขึ้น

 

ทุกคนต่างมี “การตัดสินใจ” ของตนเอง
ซึ่งการตัดสินใจนั้น ก็มาจาก “เหตุผล” ของตนเองทั้งสิ้น

 

และหากเราเลือกแล้วว่านั่นคือสื่งที่ดีที่สุด ด้วยเหตุผลที่ดีที่สุด มันคือ “การตัดสินใจที่ดีที่สุด” เสมอ

 

 

----------

อ้างอิง :

https://ourworldindata.org/covid-vaccinations?country=OWID_WRL

https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/

https://www.youtube.com/watch?v=K3odScka55A

https://www.youtube.com/watch?v=UsXq8sknQ00

https://thestandard.co/sinovac-vs-astrazeneca-side-effect-and-beneficial/

https://thestandard.co/israelis-no-longer-required-to-wear-masks/

https://www.bbc.com/thai/international-56717966

https://www.sanook.com/news/8381250/

https://thestandard.co/israelis-no-longer-required-to-wear-masks/

https://www.youtube.com/watch?v=scK2sDP1LBM

 

 ----------

อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ

17 ฉีด – ไม่ฉีด กับการตัดสินใจที่ดีที่สุด

16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม

11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021

10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง

09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต

08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร

07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม

06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล

05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ

04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)

03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)

02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย

01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก

 

ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

  • Print
Details
กระแสออนไลน์
27 April 2021
Hits: 1782

 

ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี

เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

 

และแล้ว COVID-19 ก็ยังไม่จบง่าย ๆ แบบที่พวกเราทุกคนคาดหวังไว้

และแล้ว... มันก็ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ... เรื่อย ๆ

 

ยอดผู้ติดเชื้อ นับวันยิ่งพุ่งสูงขึ้น จนน่าหนักใจ

และในตัวเลขสูงลิ่วนั้น... ก็มีเพื่อนพนักงานของเราด้วย

 

บางหน่วยงานปิดชั่วคราว บางคนต้องกักตัว บางคนรอผลตรวจ บางคน... ติดเชื้อแล้ว

 

ความวิตกกังวล จนเครียด เพราะมองไปรอบกาย คนที่ติดเชื้อก็เป็นคนที่เรารู้จัก

พื้นที่เสี่ยงนิยามยากขึ้น พื้นที่ปลอดภัยนิยามยากยิ่งกว่า

 

แต่ท่ามกลางความสาหัสนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า... การใช้ไฟฟ้า ไม่มีวันหยุด

 

แล้วต้องทำอย่างไร? ในเมื่องานก็ยังต้องรับผิดชอบ สุขภาพก็ต้องดูแล วันนี้ “กระแส” จะชวนทุกคนมา “ปรับทุกข์” รับมือกับความจิตตก ดูแลจิตใจ ป้องกันร่างกาย เพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

 

 

ในวันที่คนส่วนใหญ่... เจอปัญหาใหญ่กว่าเรา

 

การระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงไปทั่วโลก ตามมาด้วยอีกโรคที่น่ากลัวไม่แพ้กัน ซึ่งติดกันได้แม้ไม่มีการสัมผัส ก็คือปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตซึ่งเป็นภัยที่ตามมาอย่างเงียบ ๆ แบบไม่ทันตั้งตัว

 

ผลการวิจัยล่าสุดพบว่าเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรวัย 18-24 ปี มีอาการป่วยทางจิตผลพวงจาก COVID-19 และปัจจัยที่สร้างปัญหาทางสุขภาพจิตที่รุนแรงที่สุด คงไม่พ้นปัญหาการว่างงาน การระบาดของ COVID-19 ทำให้มีผู้ว่างงานกว่า 6 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะนับเป็นกว่าร้อยละ 17.9 ของคนวัยทำงานเลยทีเดียว และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกกันมา

 

 

มองหาแง่งาม ในยามวิกฤต

 

แม้พวกเราชาว MEA จะยังสบายใจได้เปลาะหนึ่งที่ยังไม่มีการ Lay off พนักงานเกิดขึ้น แต่ความเครียด กังวลใจ ในการยังต้องออกไปทำงานทุกวัน โดยเฉพาะพนักงานภาคสนาม พนักงานส่วนงานบริการ ซึ่งถือเป็น “ด่านหน้า” ที่ไม่สามารถ Work from Home ได้ แต่งานก็สำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้

 

ในสถานการณ์แบบนี้ การรักษาสมดุลเพื่อดูแลทั้งสภาพจิตใจ สุขภาพร่างกาย และเป้าหมายในการทำงาน จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

 

หากเปรียบชีวิตเราเป็นรถ จิตใจก็คงเหมือนเครื่องยนต์ที่ไว้ขับเคลื่อน ร่างกายเป็นตัวถัง เพื่อไปถึงเป้าหมายปลายทาง ไปถึงความสำเร็จของการงานที่วางแผนไว้ หากเครื่องยนต์พังก็จบตั้งแต่ต้น แต่แน่นอนหากตัวถังโดนชน ร่างกายติดเชื้อโรค ต้องกักตัว ต้องเข้าโรงพยาบาล เป้าหมายความสำเร็จทางการงานก็ไม่ได้เช่นกัน

 

มั่นใจอย่างยิ่งว่า คน MEA นั้น มีความพร้อม และคุ้นเคยในการดูแล “ร่างกาย” ของเรากันอยู่แล้ว กว่า 1 ปีที่อยู่ร่วมกับการระบาดมา มาตรการ D-M-H-T-T-A นั้น พวกเราล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างกันจนเป็นเรื่องปกติแล้ว แต่กับสภาพจิตใจของพวกเรานั้น หนึ่งในเทคนิคที่สำคัญก็คือการ มองหาแง่งาม ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้น

 

การมองหา “แง่งาม” เรื่องดี ๆ ที่มีอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น เป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการจะประคองสุขภาพจิตให้ดี เป็นการมองเห็นความจริงตามอย่างที่เป็น ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เผชิญนั้นมีทั้งด้านดีและไม่ดี และเลือกที่จะใช้ชีวิตตามความเป็นจริง

 

แน่นอนว่าการต้องออกไปปฏิบัติงานตอนนี้มีความเสี่ยง แต่อีกด้านของเรื่องเดียวกัน มันก็เป็นการพิสูจน์ว่า งานของพวกเราคน MEA มีความสำคัญกับชีวิตผู้คนมากขนาดในระดับที่ขาดไปไม่ได้

 

ในวันที่ทั้งโลก ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่ ทั้งการ Work from Home  การสั่งของ Delivery  การประชุม VDO conference ทั้งหมดมี “ไฟฟ้า” อยู่เบื้องหลัง เป็นพลังงานในการขับเคลื่อน ไม่นับรวมถึงการรักษาคนป่วย การเปิดเครื่องช่วยหายใจ และเกือบทุกปฏิบัติการณ์ในโรงพยาบาล ล้วนต้องใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น

 

เป็นเครื่องตอกย้ำที่ชวนให้เราภาคภูมิใจในงานของพวกเราทุกคนว่า เราคือรากฐานสำคัญของคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าในยามปกติ และโดยเฉพาะในยามวิกฤต

 

ทุกวันที่เราดูแลสายส่งให้ดี หมายถึง เครื่องช่วยหายใจหลายเครื่องกำลังช่วยชีวิตคนอยู่ ทุกนาทีที่ไฟฟ้ายังจ่ายได้ หมายถึงรายได้จุนเจือครอบครัวของหลายชีวิตที่ตกงาน และเริ่มขายของออนไลน์จากบ้านตัวเอง

 

พลังใจนี้ น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราตื่นขึ้นมาตอนเช้าอย่างรู้สึกถึงคุณค่าที่เราได้มอบให้กับผู้คน และพร้อมจะทำงานให้ดีที่สุด ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยม มือที่ล้างสะอาด และหน้ากากที่แปะบนจมูก

 

เพื่อน ๆ “ด่านหน้า” ของเรา อย่างทีมภาคสนามและทีมบริการ วันนี้เรียกได้ว่าเป็นฮีโร่ในภารกิจดูแลระบบไฟฟ้า เป็นกระดูกสันหลังให้ทุกชีวิตในยามวิกฤต ยิ่งภารกิจสำคัญเท่าไร ยิ่งต้องเข้มงวดกับมาตรการดูแลความปลอดภัยของตัวเราเองเท่านั้น

 

และเท่านั้นยังไม่พอ ควรจะดูแลสภาพจิตใจให้ผ่อนคลาย และมีความสุขได้ในทุกวันที่ออกไปทำงาน ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ แต่พวกเราได้ทำประโยชน์ให้กับอีกหลายชีวิต เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของทุกการรักษา

 

และเพื่อให้พวกเราทุกคนได้ดูแลประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างดีที่สุด องค์กรของเราจึงมีมาตรการและแนวทางต่าง ๆ มาดูแลเราเช่นกัน เพราะด้วยตระหนักดีว่าพวกเราทุกคนสำคัญแค่ไหนกับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งการดำเนินงานต่าง ๆ ที่รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทุกวัน การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และจำเป็น รวมทั้งการดูแลที่แม้จะไม่ได้เรียกว่า “สวัสดิการ” แต่เป็นการดูแลที่ดีต่อใจ

 

 

แม้ตอนนี้ไม่มีพื้นที่ไหนไม่เสี่ยง

แต่หากพื้นที่ในจิตใจยังมีพอให้เข้มแข็ง เราจะเป็นความหวังของผู้ใช้ไฟฟ้า เราจะเป็นความหวังของกันและกัน

 

ในวันที่สิ้นหวัง หลายคนเฝ้าคอยจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์... แต่แสงสว่างนั้นจะมาไม่ได้เลย หากไม่มีไฟฟ้า

 

หากนึกไม่ออกว่าความเข้มแข็งของ “เรา” สำคัญอย่างไร

ลองนึกถึงวันที่เรารู้สึกโหวงเหวงในใจ แล้วการมี “ใครสักคน” สแตนด์บายอยู่ตรงนั้น... พร้อมเสมอสำหรับเรา มันเป็นแสงสว่างขนาดไหน... ที่ปลายอุโมงค์

 

ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่... เราทุกคนต่างเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของกันและกัน

 

----

 

อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/news/foreign/2038404

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/932552

https://news.trueid.net/detail/JzP0R8OYOnOz

 

---------------------------------------

อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ

16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม

11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021

10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง

09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต

08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร

07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม

06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล

05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ

04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)

03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)

02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย

01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก

 

บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

  • Print
Details
กระแสออนไลน์
18 March 2021
Hits: 3721

 

บริษัทลูก MEA

กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

 

เป็นข่าวใหญ่ในแวดวงพลังงาน เมื่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติเห็นชอบให้ MEA ของเราตั้งบริษัทลูก ที่ชื่อ MEA Smart Energy Solutions จำกัด

 

แล้วการตั้งบริษัทลูกนี้ จะตอบความท้าทายที่รออยู่ในอนาคต จนสร้างเป็นโอกาสใหม่ ๆ ให้กับองค์กรอย่างไรบ้าง เป็นโอกาสใหม่ ๆ ให้กับพนักงานอย่างเราอย่างไรบ้าง และพวกเราควรจะปรับตัวเพื่อใช้โอกาสเหล่านี้อย่างไรบ้าง

 

“กระแส” ฉบับนี้ จะชวนทุกคนมาเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน

 

บริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด คืออะไร

 

บริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด จะให้บริการที่ปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง และลงทุนด้านการบริหารจัดการระบบพลังงานอัจฉริยะแบบครบวงจร โดยมีบริการ 2 ด้านหลัก คือ 1. Smart Energy ให้บริการครบวงจรด้านพลังงานอัจฉริยะในพื้นที่ลูกค้า เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid System) ระบบทำความเย็นแบบรวมศูนย์ (District Cooling) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage)  2. Renewable Energy ให้บริการครบวงจรในระบบพลังงานทดแทน เช่น Solar

 

จะเห็นได้ว่าขอบเขตการให้บริการนั้นไม่ได้ทับซ้อนกับเนื้องานที่เป็นหน้าที่หลักในเรื่องการจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA อยู่เดิม แต่เป็นการ “กางใบเรือ” เพิ่มโอกาสในการให้บริการประชาชนที่กว้างขวางขึ้น ยกระดับการให้บริการ ไม่ใช่เพียงแค่ทำได้ตามหน้าที่ที่ประชาชนคาดหวัง แต่ขี่คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง เพื่อบริการให้เหนือความคาดหมาย โดยต่อยอดจากฐานที่เราดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าอยู่แล้วเดิม ให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

 

โดยขั้นตอนการจัดตั้งบริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด ตอนนี้ได้ผ่านมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เป็นที่เรียบร้อย ด้วยทีมลูกเรือตัวเล็ก ๆ ที่ความสามารถไม่เล็กเลยอย่างทีมฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (ฝพธ.) และขั้นต่อไปก็คือการผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

การจัดตั้งบริษัทลูกของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ องค์กรเพื่อนเราอย่าง EGAT และ PEA ก็ได้จัดตั้งบริษัทลูกกันมาก่อนแล้ว ด้วยวัตถุประสงค์คล้ายกัน นั่นคือขยายบริการไปยังโอกาสใหม่ ๆ ที่ไม่ทับซ้อน แต่ส่งเสริมภารกิจหลักเดิมขององค์กร

 

EGCO Group เป็นบริษัทลูกของ EGAT แห่งแรก ก่อตั้งเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน EGAT มีบริษัทในเครือจำนวน 5 แห่ง เช่น EGCO Group ผลิตไฟฟ้าโดยเน้นลงทุนเชื้อเพลิงหลักในต่างประเทศเพื่อสร้างเสถียรภาพการใช้ไฟในประเทศ EGAT Diamond Service บริการซ่อมเครื่องกังหันทั้งในและต่างประเทศ EGAT International ผลิตไฟฟ้าโดยเน้นโครงการ G to G และล่าสุด EGAT Innovation ที่ผ่านมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พร้อมกับบริษัทลูกของ MEA จะทำเรื่องเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่และนวัตกรรมด้านพลังงาน ฝั่ง PEA เอง ก็มี PEA ENCOM International ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ทำธุรกิจเรื่องพลังงานสะอาด

 

จะเห็นได้ว่าบริษัทลูกขององค์กรเพื่อนเราทั้ง 2 แห่ง ทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมให้สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างไฟฟ้า ตอบสนองผู้ใช้ไฟเพิ่มมากขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รูปแบบการใช้ไฟที่เปลี่ยนแปลง

 

 

เมื่อลมเปลี่ยนทิศ แดดเปลี่ยนทาง พลังงานรูปแบบเดิมกำลังเปลี่ยนไป

 

ไม่ใช่แค่อนาคตที่แสนไกล แต่มันเกิดขึ้นแล้ววันนี้ และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือการผลิตพลังงานใช้เองของผู้บริโภค แนวโน้มนี้จะสร้างตลาดการใช้พลังงานที่เติบโตขึ้น แต่ส่วนแบ่งของ MEA ไม่ได้โตไปด้วย รายได้ของเราจากการจำหน่ายหน่วยไฟฟ้า เริ่มถึงจุดอิ่มตัว... และกำลังลดลง

 

และแน่นอนว่าธุรกิจที่มีรายได้จากแหล่งเดียวมีความเสี่ยง

 

เมื่อลมพายุมาถึง จะมีคนประเภทแรกที่ชี้นิ้วโทษฟ้า โทษฝน โทษโชคชะตาที่ทำให้ต้องเสี่ยงเรือจมอยู่กลางทะเล กับคนอีกประเภท ที่ชี้นิ้วหาตัวเอง แล้วเงยหน้าสู้ลม ดึงเชือกปรับใบเรือ

 

หากเราไม่มองการเติบโตของ Trend พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่ออาชีพการงานเดิมของเรา แต่กลับมุมมองให้เห็นเป็นโอกาสใหม่ในการเติบโต เราก็จะกางใบรับลม ขี่คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้ ไม่ใช่แค่เอาตัวรอด แต่เติบโตไปได้แม้มีความเปลี่ยนแปลง

 

บทบาทหน้าที่ในความรับผิดของ MEA ที่ต้องดูแลรักษาความสามารถของระบบจำหน่ายให้มีเสถียรภาพมั่นคง เชื่อถือได้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถย่อหย่อนได้ แต่การต้องรองรับพลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าย่อมเป็นต้นทุนในการดูแลระบบที่สูงขึ้น ซึ่งสวนทางกลับการสร้างรายได้ที่กำลังลดลง แทนที่จะกังวลกับความเปลี่ยนแปลง แต่การตั้งบริษัทลูก เพื่อให้ MEA ลงมาเป็นผู้เล่นใหม่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คือสิ่งที่ภาษาธุรกิจเรียกว่า การหา New S-curve คือการเติบโตแบบก้าวกระโดดครั้งใหม่บนสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม

 

บริษัทลูกที่จะให้บริการด้าน Smart Energy นั้น จะเป็นการขยายบริการ เพิ่มโอกาสให้ MEA ทั้งในแง่รายได้จากช่องทางใหม่ ๆ และยังเป็นการดูแลผู้ใช้ไฟอย่างครบวงจร ตัวอย่างจากสถานการณ์จริง เช่น ทุกวันนี้ผู้ใช้ไฟที่ติดตั้ง Solar Cell เอง แล้วเกิดปัญหาในการเชื่อมต่อเข้าระบบ ก็ต้องเป็น MEA ที่เข้าไปดูแลแก้ปัญหาให้ เช่นนั้นแล้ว ทำไมไม่ถือโอกาสนี้ทำให้มันเป็นบริการอย่างเป็นทางการไปเลย

 

เมื่อวันนี้ผู้ใช้ไฟต้องการคนเข้าไปช่วยดูแลหลังมิเตอร์ จะมีใครทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าเรา ในเมื่อเราคือคนที่รู้จักบ้านทุกหลัง มิเตอร์ทุกตัวดีที่สุด เรามีความเป็นมืออาชีพและดูแลด้านไฟฟ้าอยู่แล้ว ดังนั้น การมีธุรกิจเหล่านี้มาเสริม เชื่อมโยงกับระบบการจ่ายไฟฟ้าของเรา งานของ MEA ก็จะเป็นโจทย์ที่ง่ายกว่า เรามีความชำนาญเรื่องระบบอยู่แล้ว ตรงนี้ถือเป็นแต้มต่อของเรา แต้มต่อ... ในการยกระดับบริการให้ไปจนสุดทาง ยกความสามารถในการดูแลให้ไปจนสุดความคาดหมาย

 

 

ประตูแห่งโอกาสครั้งนี้ องค์กรได้อะไร พนักงานได้อะไร

 

สำหรับองค์กร แน่นอนว่าการตั้งบริษัทลูกมันคือโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต กระทั่งหมายถึงความอยู่รอดในกระแสความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีพลังงาน

 

แต่ประตูบานเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้แก่พนักงานในการสนับสนุนศักยภาพ สร้างแรงจูงใจให้พนักงานที่พร้อมได้ปล่อยของ ได้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับ MEA

 

เนื้องานใหม่ ขอบเขตความรับผิดชอบใหม่ มาพร้อมกับความท้าทายในการเรียนรู้ แต่แน่นอนก็มีความเติบโต และโอกาสที่มากกว่าเป็นรางวัลรออยู่ด้วยเช่นกัน

 

“Secondment” คำนี้หมายถึง การให้บุคลากรของหน่วยงานได้มีโอกาสเปลี่ยนจากการปฏิบัติงานที่ทำอยู่ประจำ ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นเป็นการชั่วคราว ซึ่งในช่วงก่อร่างสร้างตัวของบริษัทลูก MEA ก็มีแนวทางให้คน MEA ที่สนใจมีโอกาสนี้ด้วย (ติดตามรายละเอียดได้ใน รายการถามตรงตอบตรง ล้อมวงคุย EP.5  หรือ รับชมผ่าน intranet คลิกที่นี่)

 

คนคนเดียว คนกลุ่มเดียว กางใบเรือไม่ได้

 

นี่คือก้าวย่างของ MEA ที่จะ C-H-A-N-G-E รับความเปลี่ยนแปลงที่มีแต่จะรวดเร็วขึ้นในทุกวัน คือบทเรียนบทใหม่ คือความท้าทาย คือพื้นที่แห่งการพัฒนา คือเวทีในการแสดงศักยภาพ โดยการคิดถึงประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนเป็นที่ตั้ง แล้วสร้างโอกาส สร้างบริการ ที่จะทั้งตอบโจทย์ผู้ใช้ไฟ และโจทย์ความยั่งยืนขององค์กร

 

เป็นภาพสะท้อนทัศนคติขององค์กรที่ก้าวเดินอย่างไม่กลัวไปสู่อนาคตที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร หากเข็มทิศใหญ่ขยับทิศ แต่คนคุมพังงาเรือไม่ขยับตาม ก็เท่านั้น ...ทัศนคติ จิตใจ และความไม่กลัวของคน MEA ทุกคน จะชี้ชะตาว่าเรือลำนี้จะไปถึงฝั่งหรือไม่

 

ในวันที่พายุก่อตัว หวังว่าชาว MEA ทุกคนจะมาช่วยกันดึงใบเรือ ช่วยกันคุมหางเสือ เพื่อล่องฝ่าพายุนี้ไปด้วยกัน

 

 **********

ขอบคุณข้อมูลจาก ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (ฝพธ.)

 

---------------------------------------

อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ

16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม

11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021

10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง

09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต

08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร

07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม

06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล

05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ

04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)

03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)

02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย

01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก

 

จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

  • Print
Details
กระแสออนไลน์
05 March 2021
Hits: 2668

 

จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

 

“สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือความไม่แน่นอน”

“ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง”

 

ทุกปรัชญาบนโลกใบนี้ ล้วนบอกเล่าว่าไม่มีสิ่งใดในโลกที่แน่นอน หน้าที่การงานของเราก็หนีไม่พ้น ไม่มีอาชีพไหนที่อยู่ยงคงกระพันเป็นความมั่นคงทางชีวิตให้เราได้ตลอดกาล

 

และยิ่งในโลกวันนี้ที่การเปลี่ยนแปลงคูณความเร็วขึ้นแบบก้าวกระโดด

 

COVID-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนทั้งโลก หลายธุรกิจที่เคยลงหลักปักฐานก็ต้องเสียศูนย์กับ Disruption ของเทคโนโลยีที่ยักษ์ใหญ่ไล่ตียูนิคอร์นตัวเล็กไม่ทัน จนต้องล้มทั้งยืน

 

เราเองจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไรให้ชีวิตเรายังมีความมั่นคง ซึ่งแน่นอนผลลัพธ์จากการทำงานของเรา ย่อมส่งไปถึงองค์กรที่เราอยู่ก็จะมั่นคงไปด้วย

ในวันที่พายุโถมแรงขึ้นเรื่อย ๆ

แบบที่เราอาจไม่ทันตั้งตัว

หรือในส่วนใหญ่ของบางทีนั้น... เรา “รู้” แต่เลือกที่จะ “มองข้าม”

เพราะคิดว่าต้นไม้ใหญ่อย่าง MEA “ไม่มีทาง” ที่จะล้มทั้งยืน

 

กระแสฉบับนี้ จะพาทุกคนมาดู “ทาง” ร่วมกันว่า ทางที่จะล้ม... มันมี

แต่ทางที่ต้นไม้ใหญ่อย่างเราจะเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง... ก็มี

 

แล้วต้นไม้แบบไหนล่ะที่จะรอดจากพายุ?

 

 

เรียนจบทำงาน “รัฐวิสาหกิจ” อาชีพมั่นคง?

 

เชื่อว่าเพื่อน ๆ พนักงาน MEA หลายคนเข้ามาทำงานที่นี่ เหตุผลหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง

 

การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่เหมือนจะไม่มีคู่แข่ง สวัสดิการที่ได้ เรียกได้ว่าการทำงานที่นี่น่าจะมีความมั่นคงสูงมากทีเดียว

 

ความมั่นคงนี้ เป็นข้อดีที่ทำให้เรามีชีวิตที่คาดการณ์ได้ มีความรู้สึกปลอดภัย แต่อีกด้านมันก็อาจทำให้เรามองไม่เห็นความจริงในบางมุม

 

(Crediit: www.pptvhd36.com/news/)

 

ในวันที่ไม่คาดว่าจะมีพายุมา

 

ความเป็นรัฐวิสาหกิจ มีองค์กรใหญ่โต มีพนักงานมากมาย มีประวัติประสบการณ์ทำงานมายาวนาน คงไม่ง่ายที่จะนึกภาพว่าองค์กรแบบนี้จะล้มทั้งยืนได้อย่างไร มันจะมีวิกฤตอะไรมาล้มองค์กรใหญ่โตขนาดนี้ได้

 

แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า จากนี้เป็นต้นไป ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกแล้ว แต่มันเป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า

 

ในวันที่วิกฤตและความเปลี่ยนแปลงจะเร็วขึ้น มากขึ้น ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรล่าสุดที่พิสูจน์ให้เราเห็นถึงความจริงข้อนี้ก็คือการบินไทย

 

เมื่อวิกฤตอย่าง COVID-19 เกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด โลกที่ไม่มีเครื่องบินอยู่บนฟ้า คงไม่มีใครจินตนาการมาก่อน บนความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเหลือเกินนั้น น้อยสายการบินนักที่จะรอด และการบินไทยก็มาถึงจุดที่ต้องขายตึกเพื่อพยุงหนี้สินองค์กร ปลดพนักงานจำนวนมาก ย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน ใครจะคิดว่าการบินไทยจะมาถึงจุดนี้

 

อ่านมาจนถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะคิดว่า วัคซีนมาแล้ว ใดใดที่เกิดจากวิกฤต COVID-19 คงไม่สามารถทำอะไรใครได้อีกแล้ว แต่อย่าลืมว่า วิกฤตครั้งนี้ มาพร้อมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปมาก ไม่ต้องมองไกล ลองมองที่ตัวเองดูก็พอ เชื่อว่าหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น คือ เทคโนโลยี

 

และอย่าลืมว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีจุดหมายมุ่งหลักก็คือ การให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ได้รับบริการที่ดีขึ้น หลากหลายขึ้น ผลที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมก็คือ การที่รัฐวิสาหกิจจะผูกขาดบริการบางอย่างเหมือนเดิม... อาจเป็นเรื่องที่ไม่มีอีกต่อไป

 

ตัวอย่างที่เราเห็นกันเมื่อไม่นานนี้ก็คือการที่องค์การค้าคุรุสภาต้องปลดพนักงานเกือบพันคนจากการขาดทุนที่สะสมมานาน สาเหตุสำคัญที่ออกจากปากรองเลขาธิการ สกสค. เอง ก็คือ การที่องค์กรไม่ได้ผูกขาดการพิมพ์ตำราเรียนเหมือนเดิม แต่องค์กรไม่ได้ปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น

 

เหตุการณ์เดียวกัน ก็เกิดขึ้นมาแล้วกับกิจการโทรคมนาคม เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน เกิดเอกชนเข้ามาแข่งขัน วันนี้ TOT และ CAT ก็ต้องปรับตัวด้วยการควบรวมกิจการเพราะต่อสู้แย่งส่วนแบ่งการตลาดมาได้น้อยนิดเกินกว่าจะอยู่รอด

 

เมื่อถึงวันที่พายุใหญ่ถาโถม ไม้สักต้นใหญ่ที่ท้าทายลมด้วยเชื่อว่าตัวเองหยั่งรากยืนต้นมานาน ลำต้นใหญ่โต กลับเป็นต้นที่ต้องล้มลง แต่ต้นไม้ที่รอด กลับเป็นไม้ลำเล็กอย่างต้นไผ่ที่รู้ตัวว่าต้องลู่ไปในทิศใด แม้หยั่งรากไม่ลึก แต่กระจายกอไปอยู่หลาย ๆ ที่ ต้นไผ่จึงเป็นต้นเดียวที่รอดจากพายุนั้น

 

 

แล้ว MEA จะลู่ลมอย่างไร ในวันที่พายุเริ่มก่อตัว

 

องค์กรของเราได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงกันมาสักระยะ และทุกคนก็ได้มีส่วนร่วมช่วยกันปฏิบัติตามค่านิยมองค์กรที่เชื่อว่าทุกคนรู้จักคุ้นเคยกันดี พูดกันจนติดปาก กับ C-H-A-N-G-E เป็นเรื่องน่าดีใจที่คน MEA ตื่นตัวที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อพาองค์กรให้ดีขึ้น เราหยิบยกคำนี้มาพูดกันบ่อยขึ้น ในวงกว้างขึ้น

 

แต่บนกระแสภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีด้านพลังงานที่อัปเดตตลอด ที่เราเคยทำดีในวันนี้อาจกลายเป็นดีไม่พอ เราพูดกันจนติดปาก ท่องได้ขึ้นใจ แต่เราทำจนเป็นนิสัย... หรือไม่? เรา refresh ตัวเองในทุกวันหรือไม่ เมื่อเริ่มต้นวันใหม่ เราบอกตัวเอง หรือถามตัวเองไหมว่า “วันนี้เราจะทำอะไร”

 

“ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” เป็นคติประจำใจคนไทยหลาย ๆ คน แต่เชื่อไหมว่าคำนี้ก็อาจพาเราหลงทาง ด้วยการเชื่อว่าเรามีมาตรฐานที่ดีแล้ว จนลืมมองว่ามาตรฐานที่เราเคยตั้ง ที่มันเคยดีของเมื่อวาน วันนี้มันถูกข้างนอกแซงหน้าไปไกลกี่ขุมแล้ว

 

จะดีกว่าไหม หากเราเปลี่ยนคติประจำใจ เป็น “ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน” เพื่อที่เราจะได้พัฒนาตัวเอง ยกระดับ เปลี่ยนแปลงตัวเองให้นำโลกที่เปลี่ยนไป

 

เพราะความสามารถที่จะปรับเปลี่ยน ลู่ไปตามลมของความไม่แน่นอน น่าจะเป็นนิยามใหม่ของคำว่า “มั่นคง”

 

 

หากพรุ่งนี้ ลืมตาตื่นมา ไม่ต้องทำงาน

ไม่ใช่เพราะเป็นวันหยุด

แต่เป็นเพราะไม่มี MEA อีกต่อไป... เราจะเป็นอย่างไร

 

องค์กรไม่ใช่ตึก ไม่ใช่เสาไฟฟ้า แต่หากมันคือผู้คน พี่น้อง MEA ที่รวมใจกันอยู่ภายใต้องค์กรเดียวกัน องค์กรจะเปลี่ยนทิศได้ ก็ด้วยคน MEA ทุกคนเปลี่ยนทัศนคติของเรา ให้เป็นคนที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าอนาคตจะพาเราไปเจออะไร

 

เป็นไปได้ไหม หาก #เราจะ...ยิ้มให้มากขึ้น...เพื่อ MEA เป็นที่รักของผู้ใช้ไฟฟ้า

เป็นไปได้ไหม หาก  #เราจะ...ใส่ใจลูกค้าทำงานให้เร็วขึ้น...เพื่อ MEA จะได้ดูแลผู้ใช้ไฟ ให้มีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง

เป็นไปได้ไหม หาก #เราจะ...สร้างสรรค์วิธีทำงานใหม่ ๆ...เพื่อ MEA เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

เป็นไปได้ไหม หาก #เราจะ...รักษาผลประโยชน์ขององค์กร...เพื่อ MEA เติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

เราจะรอ “วันนั้น” มาถึง
หรือจะเริ่มพร้อมกัน... วันนี้

 

วันนี้คุณจะเปลี่ยนอะไร เพื่อตัวคุณเอง เพื่อองค์กรของเรา

 

 

------

 

อ้างอิง

https://thestandard.co/otep-and-reasons-of-15-years-losses/

https://www.prachachat.net/tourism/news-618402

https://www.tot.co.th/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C/2020/12/18/Townhall

----------

อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ

16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม

11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021

10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง

09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต

08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร

07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม

06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล

05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ

04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)

03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)

02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย

01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก

 

บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

  • Print
Details
กระแสออนไลน์
16 February 2021
Hits: 2244

บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

 

หลังจากการประปานครหลวงออกมาประกาศว่าช่วงนี้น้ำประปาจะมีค่าความเค็มเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ เราทุกคนในฐานะประชาชนก็ควรจะระมัดระวัง ติดตามข้อมูลของการประปา และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำดื่มกับกลุ่มที่เสี่ยงอย่างเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

 

แต่ในฐานะพนักงานของ MEA ซึ่งให้บริการปัจจัยพื้นฐานเช่นเดียวกันกับการประปานครหลวง เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ เพื่อมาปรับใช้ในการทำงานของเราได้บ้าง

 

หลังจากเริ่มมีกระแสข่าว การประปานครหลวงก็ออกมาแถลงถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชันให้ประชาชนได้ตรวจสอบค่าความเค็มของน้ำประปาในเขตบ้านตัวเองได้

 

น้ำประปาที่เค็มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่น้ำทะเลดันขึ้นมาสูง เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งหันมามองที่สาธารณูปโภคไฟฟ้า ก็จะพบว่ามีเหตุการณ์ที่คล้ายกันที่ผู้ใช้ไฟจะบ่นกันทุกปีเมื่อฤดูร้อนมาถึง ก็คือเรื่องค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น

 

แล้วเราในฐานะคน MEA ทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง วันนี้ “กระแส” จะพาทุกคนวิเคราะห์ข้อมูลไปพร้อมกัน

 

ข้อเท็จจริง - ทำไมหน้าร้อนค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

 

เอาจริง ๆ แล้วคำถามนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นวิทยาศาสตร์ธรรมดา ๆ เมื่ออากาศร้อนขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ซึ่งน่าจะเป็นตัวที่กินไฟที่สุดในบ้านก็ต้องทำงานหนักขึ้น เหมือนคนเราพายเรือตามน้ำ กับทวนน้ำ ก็ย่อมต้องใช้แรงมากกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าก็เช่นกัน ใช้แรงมากกว่าก็ใช้ไฟมากขึ้น ก็เท่านั้น

 

และเมื่อใช้ไฟมากขึ้น อีกส่วนที่ทำให้ผู้ใช้ไฟรู้สึกว่าทำไมมันแพงกว่าปกติ ก็เพราะเมื่อยิ่งใช้ “จำนวนหน่วย” เยอะขึ้น “ราคาต่อหน่วย” มันก็สูงขึ้นไปด้วย ตามหลักการขั้นราคาขั้นบันได ที่ส่งเสริมให้คนร่วมกันประหยัดการใช้ไฟฟ้า

 

“Word of Mouth ปากต่อปาก” - เมื่อคนใกล้ตัว คือสื่อที่ทรงพลังที่สุด

 

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจข้อเท็จจริงทั้งหมด สิ่งที่คน MEA ทำได้ คือต้องช่วยกันให้ความรู้ ช่วยกันกระจายความเข้าใจที่ถูกต้อง ข้อแนะนำในการใช้ไฟฟ้าให้ประหยัด ให้ไปถึงทุกคน

 

หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า นั่นก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายสื่อสารองค์กรที่จะทำงานเผยแพร่อยู่แล้ว ส่วนเราในฐานะพนักงานเกี่ยวอะไร

 

นั่นก็เพราะไม่มีสื่อใดในโลกนี้ ที่จะมีประสิทธิภาพเท่ากับ คำบอกต่อของคนใกล้ตัวอีกแล้ว

 

ลองนึกถึงเวลาที่คุณกำลังเลือกว่าจะซื้อสินค้าอะไรสักอย่าง แล้วมีเพื่อนแนะนำว่าซื้อยี่ห้อนี้สิ เขาใช้แล้วดี ยิ่งถ้าเพื่อนคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ แล้วด้วยล่ะก็ รับรองว่าคุณจะเข้าห้างไปซื้อตามเขาแน่นอน

 

เรื่องค่าไฟฟ้าก็เช่นกัน สื่อที่ให้ความรู้จาก MEA ไม่ว่าจะเผยแพร่ผ่านช่องทางไหน ผู้ใช้ไฟ ก็จะรับรู้ว่ามันเป็นข้อความจากการไฟฟ้านครหลวง ที่เขาอาจจะไม่ได้มีความผูกพันอะไรด้วยเท่าไร แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นข้อความนั้นมาจากป้าพร​ ลุงสุรชัย พี่โจ้ เพื่อนเขา ญาติเขาที่ทำงาน MEA  เรื่องเดียวกัน แต่ความรู้สึกคนฟังจะต่างออกไปมาก และเขาก็พร้อมจะรับฟัง เข้าใจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

นอกเหนือจากเราทุกคนจะมีหน้าที่ตามเนื้องานของเราแล้ว เมื่อเราใส่เสื้อ MEA ออกนอกที่ทำงาน พวกเราทุกคนก็เป็นเหมือนตัวแทนขององค์กร เหมือนเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับองค์กรของเราด้วยเช่นกัน เช่นนั้นแล้ว เมื่อเห็นคนใกล้ตัวยังสงสัยเรื่องค่าไฟฟ้าในหน้าร้อน ก็ควรจะแนะนำเขาถึงข้อเท็จจริง ส่งข้อมูลที่เป็นทางการจาก MEA ให้เขาได้อ่าน เข้าไปคอมเมนต์ใน Social Media ต่าง ๆ แบบไม่ต้องไปต่อล้อต่อเถียงด้วย แต่ใช้ข้อมูลที่ถูกต้องที่มาจากช่องทางหลักขององค์กรแทน (ลองเข้าไปอ่าน “ตอบข้อสงสัย หน้าร้อนทีไร ทำไมค่าไฟแพง” ทาง Smart Office หรือแอปพลิเคชัน MEA Connext ในหมวด “คู่มือ” ได้ คลิก  หรือจะเข้าไปดูที่ LINE OA @MEAFamily ก็ได้ คลิก)

 

 

คำถามยอดฮิต - ไม่มีเงินประกันแล้ว ทำให้การไฟฟ้าขึ้นค่าไฟหรือเปล่า

 

ไม่จริง เพราะว่าเงินประกันการใช้ไฟฟ้านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการคิดค่าไฟที่ใช้เลยแม้แต่น้อย และไม่ได้มีผลต่อการดูแลรับผิดชอบมิเตอร์ไฟฟ้าของ MEA อีกด้วย

 

คำถามยอดฮิต - ต้อง Work from Home ทำอย่างไรไม่ให้ค่าไฟแพงขึ้นมากเกินไป

 

ช่วงเวลาแบบนี้ที่เราอยู่บ้านกันมากขึ้น แน่นอนจำนวนชั่วโมงที่ใช้ไฟของเราย่อมเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะใส่ใจรายละเอียดให้การใช้ไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดมากขึ้น

 

  • เปิดเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศา แต่หากยังไม่เย็นพอ ต้องการให้รู้สึกเย็นสบายเหมือนเปิด 24 องศา อาจเปิดพัดลมช่วย ก็จะประหยัดค่าไฟได้มากกว่า
  • ไม่ใช้อุปกรณ์ที่ให้ความร้อน เช่น เตารีด ในห้องแอร์ เพราะจะยิ่งทำให้กินไฟหนักขึ้น
  • ล้างแอร์เป็นประจำ และวางแผนการล้างแอร์ก่อนฤดูร้อนมาถึง

 

คำถามยอดฮิต - เห็นโฆษณาว่ามีอุปกรณ์ที่ติดแล้วทำให้ประหยัดไฟมากขึ้น

 

อย่าไปเชื่อ เพราะ MEA ได้ตรวจสอบแล้วว่าพวกนี้เป็นมิจฉาชีพ และอุปกรณ์เหล่านั้นไม่สามารถลดค่าไฟฟ้าได้จริง

 

 

หน้าร้อนที่กำลังจะมาถึงนี้ บวกกับสถานการณ์ที่หลายคนยังต้อง Work from Home น่าจะเป็นเดือนที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นมากแน่ ๆ และแน่นอนว่า MEA ก็ได้มีแผนเตรียมรับมือ มีการผลิตสื่อต่าง ๆ ที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจกับผู้ใช้ไฟอย่างเต็มที่

 

แต่ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ไม่มีสื่อไหนจะมีพลังมากไปกว่าคน MEA ทุกคน ที่ช่วยกันเป็นพรีเซนเตอร์ให้องค์กร ช่วยกันเผยแพร่ความเข้าใจและข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า

 

เมื่อโลกทุกวันนี้ คนที่จะ “อยู่รอด” คือคนที่ทำอะไร “ตามความคาดหมาย”

แต่คนที่จะ “อยู่อย่างยั่งยืน” คือคนที่ทำอะไร “เหนือความคาดหมาย”

 

ความรู้ความเข้าใจตามภาระงานประจำเป็นสิ่งจำเป็น แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่กลายเป็นเรื่องพื้นฐานไปแล้ว รู้เท่านี้ก็อยู่รอด

 

แต่หากอยากอยู่ได้อย่างยั่งยืน ต้องได้ใจประชาชน อยากได้รับความเชื่อถือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจวงรอบนอกของผลิตภัณฑ์ธุรกิจและการบริการของเราด้วย ถึงจะนำมาซึ่ง “เหนือความคาดหมาย”

 

มาเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ
เริ่มจาก หน้าร้อนนี้

หากทำให้เพื่อนข้างบ้านเข้าใจได้ว่าควรใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไรให้ประหยัดไฟในหน้าร้อนนี้

MEA จะอยู่รอด และจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน... แน่นอน

 

-----------

อ้างอิง :

https://www.thairath.co.th/news/local/2024649

 

----------

อ่าน "กระแส" บทความอื่น ๆ

16 ภูมิคุ้มกันใจที่คน MEA ต้องมี เพราะเบื้องหลังของทุกชีวิต คือระบบไฟฟ้า

15 บริษัทลูก MEA กางใบเรือ ขยายศักยภาพ รับความเปลี่ยนแปลง

14 จะรอวันนั้น... หรือจะเริ่มวันนี้

13 บทเรียน “น้ำประปาเค็ม” MEA พร้อมหรือยัง เตรียมรับมือ “ค่าไฟฟ้าหน้าร้อน”

12 COVID-19 “การรับผิดชอบต่อส่วนรวม” มีเดิมพันที่สูงกว่าเดิม

11 ฝ่าปีสุดโหด 2020 เตรียมรับ Trend โลกปี 2021

10 โจ ไบเดน: สุนทรพจน์หลังชนะเลือกตั้ง กับคำพูดที่ชวนให้คน MEA หันมามอง (เป้าหมาย) ตัวเอง

09 ถอดบทเรียนท่อก๊าซระเบิด - ความไวคือหัวใจ ให้ได้ใจในวิกฤต

08 ตกผลึกเหตุการณ์โรงเรียนชื่อดัง คน MEA ได้เรียนรู้อะไร

07 ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้... อยู่ที่ว่าใครรับมือได้ดีกว่ากัน บทเรียนล้ำค่าจากระบบ Garmin ล่ม

06 30 ปีแห่งการรอคอย เราควรเรียนรู้อะไร จากแชมป์ของลิเวอร์พูล

05 เชื่อหรือไม่? ชีวิตดิจิทัล เริ่มต้นที่ใจ

04 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 2)

03 จัดทัพสู้! เรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ถอดบทเรียนกรณีการบินไทย (ตอนที่ 1)

02 รัฐวิสาหกิจมั่นคงจริงหรือ? รวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากกรณีการบินไทย

01 MEA เจิดจ้า ท้าชนพี่ ๆ มาสคอตระดับโลก

 

Page 3 of 6

  • Start
  • Prev
  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5
  • 6
  • Next
  • End